โอกาส AEC เปิดกว้างชี้ SMEs ไทยอย่ากลัวให้เร่งพัฒนา

มูลนิธิเอเชียร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้จัดการสัมมนาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคในหัวข้อ “การปรับทัพ AEC ให้สอดคล้องกับ SMEs” หรือ “Making ASEAN Economic Community Work for SMEs”

 



    มูลนิธิเอเชียร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้จัดการสัมมนาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคในหัวข้อ “การปรับทัพ AEC ให้สอดคล้องกับ SMEs” หรือ “Making ASEAN Economic Community Work for SMEs” 

    นางเวอโรนิค ซัลส์-โลแซค (Véronique Salze-Lozac'h) ผู้อำนวยการอาวุโส โครงการพัฒนาเศรษฐกิจ มูลนิธิเอเชีย  กล่าวว่า สัดส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในไทยมีมากถึงร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาพบว่าในการกำหนดนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีส่วนร่วมน้อยมาก  ส่วนใหญ่จึงยังมีปัญหา การขาดเงินทุน ข้อมูลในการทำธุรกิจ และเทคโนโลยี  ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในปี 2558 นี้

 

    
    นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปีหน้านั้น มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีของประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนับเป็นความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยควรเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ เพราะตลาดภายนอกอย่างเออีซีมีแนวโน้มสดใสและภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น  ในขณะที่ตลาดภายในประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่ยังไม่มีความแน่นอน   ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรดูลู่ทางการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน หรือในอาเซียนให้มากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจในประเทศได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมที่ดี

 

    ด้าน ดร.ศก สีพนา (Dr.Sok Siphana) ที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีกัมพูชา  กล่าวปาฐกถาโดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า  โอกาสของเอสเอ็มอีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นอยู่ที่มุมมอง โดยส่วนตัวมองในแง่บวกว่าเออีซีคือโอกาส  หากเอสเอ็มอีสามารถจัดวางตำแหน่งตัวเอง ในบริบทของเออีซีสำหรับเอสเอ็มอีคือเรื่องของการนำไปใช้ เป็นเรื่องการปฎิบัติซึ่งจะพบว่าตอนนี้แต่ละประเทศต่างพยายามกำหนดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี(NBT)มากีดกันทางการค้า

   เช่น ในประเทศกัมพูชามี 14,000 รายการ ขณะที่ในประเทศลาวมีถึง 180,000 รายการ ซึ่งในอาเซียนก็ยังไม่มีฐานข้อมูลกลางที่จะรู้ได้ว่าในแต่ละประเทศมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอะไรบ้าง ประเทศต่าง ๆ จึงควรร่วมมือกันทำฐานข้อมูลเพื่อให้ผู้ประกอบการของแต่ละประเทศสามารถมาเรียนรู้เตรียมความพร้อมในการเข้าไปทำธุรกิจได้  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอสเอ็มอีจะต้องศึกษาให้ละเอียด ต้องกำหนดกลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่ชัดเจนและแนวทางปฎิบัติในข้อกำหนดต่าง ๆ  เพราะในบริบทเออีซีสิ่งที่เอสเอ็มอีเผชิญจะไม่เหมือนกับบริษัทข้ามชาติใหญ่ ๆ ซึ่งมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจมากกว่า

    การเตรียมความพร้อมของเอสเอ็มอีของประเทศต่างๆในอาเซียน ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิด อย่ากลัวการเปิดเออีซี ต้องมองภาพใหญ่ที่เป็นโอกาสรออยู่  ต้องมองว่าทำอย่างไรเอสเอ็มอีจะสามารถผนวกตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของอาเซียนหรือของโลกที่มีการเติบโตมากขึ้นได้ในอนาคต  นั่นคือต้องให้ความสำคัญกับการเข้าเป็นหุ้นส่วนกับผู้ประกอบการหรือบริษัทใหญ่ ๆ ที่ดำเนินการถูกต้องในประเทศนั้น ๆ หรือการจับคู่ธุรกิจแทนการไปเข้าไปแข่งขันซึ่งทำได้ยาก  วิธีการดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายระดับมหภาคได้ 

    อย่างไรก็ตามหากเอสเอ็มอีมีการเตรียมความพร้อมที่ดี มีข้อมูล เข้าใจสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ และสิ่งที่จะทำให้เอสเอ็มอีอยู่รอดได้ในเออีซีคือการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและครบครัน  จะทำให้เอสเอ็มอีมีศักยภาพ มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกปลาใหญ่กินในที่สุด  และนี่คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เอสเอ็มอีก้าวกระโดดหรือประสบความสำเร็จได้ในเออีซี.

NEWS & TRENDS