ตลาดยุโรปเหนือเหมาะ SMEs ไทยสั่งน้อยกระเป๋าหนักชอบของดี

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแนะ SMEs ลุยตลาดยุโรปเหนือ เหตุเศรษฐกิจปรับตัวเร็ว นิยมสินค้าคุณภาพดี ไม่เกี่ยงราคา และสั่งซื้อไม่เยอะ เหมาะกับ SMEs



    กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแนะ SMEs ลุยตลาดยุโรปเหนือ เหตุเศรษฐกิจปรับตัวเร็ว นิยมสินค้าคุณภาพดี ไม่เกี่ยงราคา และสั่งซื้อไม่เยอะ เหมาะกับ SMEs 

    นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาด ยุโรปว่า การส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรป(อียู)ในช่วง 2 เดือนแรก(ม.ค.-ก.พ.)ของปีนี้ขยายตัว 5.8% หรือมีมูลค่า 3,398 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์โต 7% ทำให้กรมฯมั่นใจว่า ตลาดอียูมีทิศทางที่ดีขึ้น จะส่งผลให้การส่งออกไทยไปอียูทั้งปีไว้คาดว่าจะขยายตัว 5% หรือ 23,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสำคัญในกลุ่มประเทศเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส

    “มาตรการรัดเข็มขัดของภาครัฐที่เริ่มผ่อนคลายลงช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในยุโรปให้เริ่มฟื้นตัว สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าไทยขยายตัวได้ดี ยุโรปเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีการค้าการพัฒนาในเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลากหลาย ด้วยการผสมผสานการออกแบบไว้ในหลายแง่มุมของธุรกิจ และในแถบทุกอุตสาหกรรม ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในวงการแฟชั่น ของขวัญของตกแต่งบ้าน หรือเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น แต่ยังได้ประยุกต์นำการออกแบบไว้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น วิศวกรรม เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือการแพทย์ เป็นต้น การออกแบบ จึงเป็นส่วนหนึ่งของกุญแจการขับเคลื่อนทางธุรกิจที่สำคัญในตลาดโลก”

    โดยเฉพาะในยุโรปตอนเหนือ เศรษฐกิจจะปรับตัวได้เร็วกว่า เพราะตลาดจะมีลักษณะเฉพาะตัว คือ นิยมสินค้าคุณภาพสูงแบบไม่เกี่ยงราคา แต่สั่งซื้อไม่มาก ทำให้ตลาดนี้เหมาะกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องให้ความใส่ใจ มีการออกแบบใหม่ๆ ที่ตรงความต้องการตลาด และต้องรักษาคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นตลาดที่เข้าถึงยาก แต่ทำได้แล้ว จะอยู่อย่างถาวร โดยไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากค่าเงิน หรือต้นทุนสูงขึ้น เพราะไม่ได้แข่งขันด้วยราคา แต่แข่งขันด้วยนวัตกรรมและการออกแบบเป็นหลัก"นางนันทวัลย์ กล่าว

    นางสุจิตรา ถนอมทรัพย์ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก กล่าวว่า เดนมาร์กได้ผลักดันการออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมมายาวนานหลายสิบปี บริษัทผู้ประกอบการไทย จึงควรให้ความสำคัญในด้านการผลักดันการออกแบบเพื่อองค์กร สังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย โดยไม่เน้นเพียงแต่ตัวผลิตภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้ พัฒนาและนาแนวคิดการออกแบบเพื่อสังคมและการพัฒนาชีวิตไปพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนต่อไป

    “การผลสำรวจล่าสุดของบริษัทเดนมาร์กต่างๆ แสดงให้เห็นว่า การทำงานกว่า 23% เป็นการทำงานที่มีการออกแบบเชิงกลยุทธ์ และมีบริษัทกว่า 40% ที่ใช้การออกแบบร่วมกับกระบวนการการพัฒนา”นางสุจิตรา กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามการออกแบบสไตล์เดนมาร์กนั้น เป็นการออกแบบที่ล้ำหน้าเป็นการออกแบบเพื่อความยั่งยืนที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้จำกัดอยู่ภายใต้ข้อกำหนดหนึ่งใดเท่านั้น เช่น การลดการเปิดไฟ การลดความร้อน การใช้วัสดุใหม่ น้ำประปาสะอาดบริสุทธิ์ การออกแบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายอินทรีย์แฟร์เทรด ผ้าฝ้ายอินทรีย์ นวัตกรรมสิ่งทอ นึกถึงการลบคราบเปื้อน การส่งสัญญานให้เปลี่ยนผ้าอ้อมของทารก หรือ จินตนาการถึงถุงเท้าที่ไม่ส่งกลิ่นเหม็น หรือเสื้อผ้าที่สามารถบอกวิธีซักแก่เครื่องซักผ้าได้ ด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์และเสื้อผ้าที่สามารถตอบโต้ข้อมูลจากผิวสัมผัส(จาก ความชื้น ความผันผวนของอุณหภูมิ และชีพจร)”นางสุจิตรากล่าว

NEWS & TRENDS