​ตัวเลขผู้สูงอายุพุ่งแนะ 5 อุตฯมาแรงโอกาส SMEs ไทย

ผูู้สูงอายุพุ่ง เผย 5 กลุ่มอุตสาหกรรม โอกาสใหม่ของ SMEs แนะหาแนวทางผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ ทั้งตลาดไทยและอาเซียน

 


Credit Picture : http://gossipgenie.com/
 

 
 ผูู้สูงอายุพุ่ง กสอ.เผย 5 กลุ่มอุตสาหกรรม โอกาสใหม่ของ SMEs แนะหาแนวทางผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ ทั้งตลาดไทยและอาเซียน

    ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า จากข้อมูลของสหประชาชาติ     พบว่า ขณะนี้โลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งมีจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 627 ล้านคน โดยประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มีถึง 36.9 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.89 ของประชากรทั้งหมดในอาเซียน 

    สำหรับประเทศไทยมีประชากร กว่า 66 ล้านคน มีจำนวนผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี ประมาณ 6.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 9.9 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับสองของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ถือได้ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว (Aging Society) และในปี 2563 คาดว่าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ 14.4 ซึ่งจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) 

    อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ธุรกิจ สามารถมองหาโอกาสในการทำตลาดเจาะกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ เพราะถือได้ว่าเป็นกลุ่มประชากรที่มีอำนาจต่อรองในการซื้อ และมีกำลังซื้อสูงเนื่องจากมีเงินเก็บจากการทำงานหนักมาทั้งชีวิต จึงมีศักยภาพสูงในการบริโภค สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ในการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุทั้งตลาดเมืองไทยและตลาดอาเซียนที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     สำหรับผู้ประกอบการ SMEs สามารถปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะด้านของกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุควบคู่ไปกับความสามารถในการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดยปรับการออกแบบ ให้ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน ตัวอักษรให้มีความเป็นอารยสถาปัตย์ (Universal design) ซึ่งเหมาะสมกับทุกชนชาติ  ทุกเพศทุกวัย 

    นอกจากนี้ กลุ่มผู้สูงอายุยังมักเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ฝีมือประณีต เน้นการซื้อด้วยเหตุผลไม่ใช่อารมณ์  ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจเป็นหลัก และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง  แนวทางดังกล่าวนับได้ว่าเป็นการขยายฐานลูกค้าโดยการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง  ทั้งนี้ กสอ. เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อหาโอกาสการขยายตลาดให้ธุรกิจตนเอง  ซึ่ง กสอ. ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการสู่การเปิดการค้าเสรีอาเซียนที่กำลังจะมาถึง โดยมองว่ากลุ่มสินค้าที่มาแรงสำหรับผู้สูงอายุ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่

    1.     อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปโดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ ในปัจจุบันกระแสรักสุขภาพกำลังมาแรงผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจึงกำลังเป็นที่นิยมของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักโดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด และคาดการณ์ว่าแนวโน้มผู้รักสุขภาพจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพไปตามวัยก็จะพยายามดูแลรักษาสุขภาพตนเองให้ดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานก็ตระหนักถึงสุขภาพมากขึ้น  จากรายงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่าคนไทยบริโภค “อาหารเพื่อสุขภาพ” กว่า      1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งอาหารเพื่อสุขภาพที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการ เช่น อาหารไขมันต่ำ ไม่มีคอเลสเตอรอล น้ำตาลน้อยหรือไม่ใส่เลย ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ส่วนประกอบที่ป้องกันหรือช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน และระบบย่อย เป็นต้น กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มาแรงที่สุด คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มรองลงมาคือ อาหารที่มาจากธรรมชาติและดีต่อสุขภาพ และกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตมาก คือ วิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

    2.     อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งได้แก่ กลุ่มเครื่องใช้ภายในบ้าน ยังมีแนวโน้มเติบโต โดยปี 2556 มีมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ 3.4 หมื่นล้านบาท  โดยปีนี้มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นถึงร้อยละ 5 เพราะเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ซึ่งตลาดหลักในการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยคือ ญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งในปีนี้จะมุ่งเน้นตลาดจีนและอาเซียนมากขึ้น เพราะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องสำหรับธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทย ควรเพิ่มช่องทางการขายเพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคในกลุ่มต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตเนื่องจากสภาพร่างกายเริ่มเสื่อมถอย แต่กลับเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ จึงหันมาให้ความสำคัญต่อคนกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งไทยมีจุดแข็งในการออกแบบดีไซน์และการตลาด ทำให้สามารถพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุได้ดีโดยเฟอร์นิเจอร์เพื่อผู้สูงอายุได้แก่ เตียงนอนที่สามารถปรับระดับได้และไม่สูงเกินไป ที่นอนยางพาราที่มีความแข็งตัว เก้าอี้ไม้ที่มีพนักพิง และหมอนเพื่อผู้สูงอายุ เป็นต้น

    3.     อุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าการส่งออกกว่า 84,000 ล้านบาท จึงนับเป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางซึ่งไทยมีเครื่องสำอางประเภทออร์แกนิกส์ (Organics) ที่ผลิตจากธรรมชาติหรือสมุนไพร และกำลังได้รับความสนใจจากผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้บริโภคมั่นใจว่าปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมี

    หากผู้ประกอบการไทยสามารถประยุกต์ภูมิปัญญาไทยโดยนำสมุนไพรท้องถิ่นที่มีสรรพคุณต่อต้านริ้วรอย (Anti-Ageing) ยกกระชับ ลดรอยกระจุดด่างดำ มาผนวกกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้จะเป็นการสร้างเอกลักษณ์ของเครื่องสำอางไทยเกิดเป็นสินค้าใหม่ๆ ที่สร้างโอกาสทางการตลาดได้ ปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ผลิตเครื่องสำอางธรรมชาติและสมุนไพรกว่า 300 ราย มีมูลค่าการส่งออกกว่าหมื่นล้านบาท โดยตลาดส่งออกเครื่องสำอางจากธรรมชาติที่สำคัญ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ

    4.     อุตสาหกรรมเครื่องมือที่ใช้ทางการแพทย์ สำหรับอุตสาหกรรมนี้ถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมม้ามืด ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ได้ประสบปัญหาด้านสุขภาพ แต่เนื่องจากการเพิ่มจำนวนของผู้สูงอายุ จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์ เมื่อเข้าสู่ AEC เพราะนอกจากผู้ประกอบการไทยจะสามารถขยายการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นแล้ว  ยังเป็นการรุกตลาดอาเซียนที่นับวันจะเติบโตและทวีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในเวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า และบรูไน 

    ทั้งนี้ ไทยสามารถส่งออกวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้กว่าปีละ 9 หมื่นล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีในระดับไม่สูงมาก เน้นการผลิตที่ใช้วัตถุดิบจากยางและพลาสติกเป็นหลัก จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องผลักดันให้มีขีดความสามารถในการผลิตหรือการออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ถุงมือยางทั่วไป เลนส์แว่นตาทำด้วยวัสดุที่ไม่ใช่แก้ว และครุภัณฑ์ทางการแพทย์อื่นๆ เช่น ไม้เท้า และรถเข็นเป็นต้นโดยตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนี (ที่มา : รายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์, 2555)

    5.     อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างสำหรับผู้สูงอายุ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการสร้างและตกแต่งบ้านเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไม่ควรมองข้าม เนื่องจากมีผลต่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิตภายในบ้าน ซึ่งถือเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทุกคนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหลายรายได้ให้ความสำคัญในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกายภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงวัย เช่น ก๊อกน้ำ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เลือกแบบปัดไปด้านข้างมากกว่าแบบหมุนหรือกด  ลูกบิดประตู  เลือกแบบมีร่องมากที่สุดเพราะไม่ลื่นจับถนัดมือ ส่วนกลอนประตูมักเลือกแบบที่มีกลไกใน    การล็อกที่ค่อนข้างซับซ้อนเพราะคนวัยนี้มักกังวลถึงความไม่ปลอดภัยมากกว่าวัยอื่น เป็นต้น กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและธุรกิจต่อเนื่องนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยผู้นำด้านการส่งออกในตลาดโลก ได้แก่ ประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศอาเซียน +3 สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนนั้นมีมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

 
                ผู้ประกอบการ SMEs หรือประชาชนทั่วไป สามารถเข้ารับบริการของ กสอ. ได้โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทรศัพท์ 0 2202 4426 - 27 หรือ www.dip.go.th

NEWS & TRENDS