หอการค้าไทยเปิดผลสำรวจ "สถานภาพแรงงานไทย" หลังขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครบ 1 ปี พบแรงงานยังไร้เงินออม แถมภาระหนี้สินพุ่งสูงสุดในรอบ 6 ปี เฉลี่ย 1 แสนบาทต่อครัวเรือน
หอการค้าไทยเปิดผลสำรวจ "สถานภาพแรงงานไทย" หลังขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครบ 1 ปี พบแรงงานยังไร้เงินออม แถมภาระหนี้สินพุ่งสูงสุดในรอบ 6 ปี เฉลี่ย 1 แสนบาทต่อครัวเรือน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “สถานภาพแรงงานไทย กรณีผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท” จากกลุ่มตัวอย่างแรงงานทั่วประเทศจำนวน 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 17-21 เม.ย. 2557 พบว่า แรงงานส่วนใหญ่ 76.1% ไม่มีเงินออม และ 93.7% มีภาระหนี้สิน ซึ่งเป็นอัตราที่แรงงานมีภาระหนี้สินพุ่งสูงสุดในรอบ 6 ปี ทั้งที่มีการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทมาเป็นเวลาครบ 1 ปีแล้ว โดยมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 106,216 บาท มีอัตราผ่อนชำระต่อเดือน 6,639 บาท หนี้ในระบบ 43.9% นอกระบบ 56.1%
สำหรับผลการสำรวจหนี้ครัวเรือนของแรงงาน 6 ปีย้อนหลังหรือตั้งแต่สำรวจมา พบว่า ในปี 2552 อยู่ที่ 87,399.02 บาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบ 51.49% และ นอกระบบ 48.51%, ปี 2553 อยู่ที่91,063.08 บาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบ 51.88% และ นอกระบบ 48.12%, ปี 2554 อยู่ที่ 87,641.08 บาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบ 53.3% และ นอกระบบ 46.7%, ปี 2555 อยู่ที่ 91,710.08 บาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบ 52.3% และนอกระบบ 47.7%, ปี 2556 อยู่ที่ 98,428.6 บาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบ 48.1% และนอกระบบ 51.9%
สำหรับวัตถุประสงค์ในการกู้เงินส่วนใหญ่ 46.6% นำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รองลงมาคือผ่อนชำระค่าที่อยู่อาศัย 20.9% และเป็นหนี้ค่ายานพาหนะ13.2%