คีนัน" ระบุคนไทย 16 ล้านคนขาดทักษะการใช้เงิน พบ 3 กลุ่มต้องเร่งช่วยเหลือเร่งด่วน โดยเฉพาะนักศึกษาหาเงินเองไม่ได้แต่ใช้ฟุ่มเฟือยจนน่าตกใจ

คีนัน" ระบุคนไทย 16 ล้านคนขาดทักษะการใช้เงิน พบ 3 กลุ่มต้องเร่งช่วยเหลือเร่งด่วน โดยเฉพาะนักศึกษาหาเงินเองไม่ได้แต่ใช้ฟุ่มเฟือยจนน่าตกใจ
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า การบริโภคนิยมและปัญหาการขาดความรู้และทักษะ ในการบริหารการเงินส่วนบุคคล นอกจากจะผลักดันให้หนี้ส่วนบุคคลและหนี้ครัวเรือนของประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแล้ว ยังนำไปสู่ปัญหาความไม่พร้อมในการดูแลตนเองหลังการเกษียณอายุ จากผลสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำรวจระดับทักษะการเงินของคนไทยในปี 2556 พบคนไทยมีคะแนนเฉลี่ย 58.5% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ 14 ประเทศที่ร่วมโครงการของ OECD ที่อยู่ที่ 62.3%
จากการศึกษาเชิงลึกโดยกระทรวงการคลัง พบว่า ประชาชน 3 กลุ่ม ที่มีระดับความรู้ทางการเงินในขั้นวิกฤติ และควรได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน คือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่ยังไม่สามารถหารายได้ แต่มีการใช้จ่ายสูงมาก และมีระดับหนี้สูงจนน่าตกใจ ตามมาด้วยกลุ่มอาชีพอิสระรายได้ต่ำ และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งรวมแล้วประเทศไทยมีประชากรทั้ง 3 กลุ่มนี้ประมาณ 16 ล้านคน
นอกจากนี้หนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 82.3% ในสิ้นปี 2556 เทียบกับปี 2551 ที่มีเพียง 55.6% และถือว่าเป็นระดับที่สูงที่สุดในเอเชีย ซึ่งเฉลี่ยทั่วโลกจะมีสัดส่วนเพียง 70% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงกระตุ้นการอุปโภคบริโภคของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหา
“จำนวนผู้ออมลดลง วัฒนธรรมการบริโภคของไทยนำไปสู่ความไม่พร้อม ในการเข้าสู่สังคมเกษียณอายุ ที่จะไม่มีรายได้เข้ามา ประเทศไทยไม่มีสวัสดิการเหมือนต่างชาติ และที่คนยังไม่ค่อยรู้คือรัฐบาลกำลังเลิกคุ้มครองเงินฝาก ดังนั้นไทยควรกำหนดเรื่องการให้ความรู้ทางด้านการเงินเป็นวาระแห่งชาติได้แล้ว งานมหกรรมการเงินที่จัดกัน จะให้ความรู้แค่เรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ไม่ใช่งานที่ให้ความรู้ในการบริหารเงินเลย แม้กระทั่งสถาบันการเงินมีการพูดถึงการบริหารความมั่งคั่ง แต่เป็นเรื่องของลูกค้ารายกลางถึงรายใหญ่ ไม่มีการดูแลลูกค้ากลุ่มรากหญ้าที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ”
ด้านนายธีระ ภู่ตระกูล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กล่าวว่า ปัญหาการเงินไทยประกอบด้วย 3 ด้านหลัก คือด้านความรู้ทางการเงินที่คนไทยมีน้อยมาก ด้านอุปนิสัยคนไทยที่ไม่มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายและอาจตัดสินใจผิดพลาดได้และสุดท้ายคือทัศนคติในการใช้เงินของคนไทยเช่น เหนื่อย ทุกข์แล้วต้องชอปปิง ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐต่างมีโครงการให้ความรู้ทางการเงินออกมามากมาย แต่เป็นการใช้เงินแบบเบี้ยหัวแตกและไม่มีประสิทธิผลมากนัก ควรมีสโลแกนที่บ่งบอกถึงการใช้เงินเกินตัว
นายรัชชพล เหล่าวานิช กรรมการผู้จัดการบริษัทมิราเคิล ครีเอชั่น จำกัด กล่าวว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีแนวโน้มเพิ่มสูงถึง 85% จากปัจจุบันอยู่ที่ 82.3% หากเศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้ เพราะการชำระหนี้จะมีปัญหา โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือค้างชำระตั้งแต่ 30-90 วันจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และกลายเป็นเอ็นพีแอลในที่สุดและควรเป็นวาระแห่งชาติที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาเป็นพระเอก และใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางหลักในการแก้ปัญหา
หากเข้าไปดูตัวเลขงบประมาณในการให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของแต่ละหน่วยงานภาครัฐรวมกันแล้ว มีมากกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท แต่การใช้งบประมาณยังกระจัดกระจายควรนำมารวมกันและใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนนายดาเรน บัคลีย์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเชิญความเสี่ยงกับภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากประชาชนมีการบริโภคการใช้จ่ายเกินตัวจนทำให้เกิดการเติบโตของรายได้ต่ำกว่าการเติบโตของหนี้สิน ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนขาดความรู้และทักษะทางการเงิน ทำให้ก่อหนี้โดยไม่จำเป็นและไม่ตระหนักถึงปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวที่กำลังจะมาถึง แม้หน่วยงานรัฐและเอกชนจะมีโครงการให้ความรู้ด้านการเงินต่อเนื่อง แต่ยังไม่เหมาะกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
ส่วนซิตี้แบงก์เห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ถือว่าต่ำกว่าระบบ ขณะเดียวกันในแง่ของผู้ประกอบการบัตรเครดิต ยอมรับว่า เริ่มเห็นทิศทางการชะลอตัวของการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยรวม
ที่มา : www.bangkokbiznews.com