หนี้ SMEs พุ่งพรวด 30% บสย. ผนึก สสว. ยื่นมือช่วย

นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (บสย.) กล่าวว่า หลังจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสบปัญหาจากเศรษฐกิจชะลอตัว จึงเกิดปัญหาการชำระหนี้ โดยทำให้มีปัญหาหนี้ค้างชำระ 90วัน ของระบบเพิ่มขึ้นถึง 30%



 
    นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (บสย.) กล่าวว่า หลังจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสบปัญหาจากเศรษฐกิจชะลอตัว จึงเกิดปัญหาการชำระหนี้ โดยทำให้มีปัญหาหนี้ค้างชำระ 90วัน ของระบบเพิ่มขึ้นถึง 30% หากปล่อยไว้อาจทำให้เอ็นพีแอลของระบบปรับสูงขึ้น  ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงมอบหมายให้ บสย. เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีในช่วงของรัฐบาลรักษาการ โดยที่ผ่านมาได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างเร่งด่วน จึงมีแนวคิดให้ สสว. นำเงินในการดำเนินโครงการต่างๆ บางส่วนมาช่วยจ่ายค่าธรรมเนียมเงินกู้ในการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประมาณ 300ล้านบาท เพียงให้คณะกรรมการ สสว. พิจารณาเท่านั้น ไม่ต้องเสนอให้ ครม. พิจารณาในเรื่องดังกล่าว

     ทั้งนี้ ในส่วนของ บสย. พร้อมให้ความร่วมมือกับแนวทางดังกล่าว แต่ต้องดำเนินตามมติ ครม.เดิมที่กำหนดให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS 5วงเงิน 240,000ล้านบาท ในอัตรา 1.75%  โดยในปีนี้ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อได้ 100,000ล้านบาท สำหรับโครงการช่วยเหลือครั้งนี้คาดว่าจะเป็นวงเงินสินเชื่อประมาณ 20,000ล้านบาท

    นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไปสายงานธุรกิจ บสย. กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีครั้งนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า โดยเน้นจูงใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีมากขึ้น จากช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาจะเห็นว่าสินเชื่อแทบไม่ขยายตัว เนื่องจากแบงก์มีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ยอดค้ำประกันสินเชื่อช่วงไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 12,000ล้านบาทเท่านั้น ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 40%และมีแนวโน้มว่าไตรมาส 2จะมียอดค้ำประกันสินเชื่อไม่เพิ่มขึ้นมากนัก คงขึ้นอยู่กับมาตรการที่จะออกมาด้วย

     “มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีครั้งนี้ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลนมาปล่อยกู้ได้เหมือนที่ผ่านมา เพราะเป็นโครงการใหม่ที่ต้องเสนอเข้า ครม. จึงมีข้อจำกัด จึงต้องเน้นจูงใจให้แบงก์หันมาปล่อยกู้มากขึ้น โดย บสย. อาจจะเข้าไปรับความเสี่ยงในการปล่อยกู้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันรับความเสี่ยงให้ 18%ของพล็อตสินเชื่อที่เข้าโครงการ นอกจากการหาช่องทางจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการดังกล่าวโดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณซึ่งจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า”

    ด้านนายคนิสร์ สุคนธมาน กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า ลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารมีสัดส่วนสูงถึง 80% ยอมรับว่าขณะนี้เริ่มมีปัญหา แต่สัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลมีเพียง 4% หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท จึงได้ตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญเกิน 2 เท่าตามที่ ธปท. กำหนด จึงคาดว่าจะไม่มีปัญหาหนี้เสียตามที่หลายฝ่ายกังวล

ที่มา : www.thanonline.com

NEWS & TRENDS