สสว. ประเมินผลการชุมนุมทางการเมืองเดือน มี.ค. 57 กระทบด้านลบต่อ SMEs ร้อยละ 76 ส่วนใหญ่เป็นด้านยอดขายและจำนวนลูกค้า เผยผู้ประกอบการตลาดนัดจตุจักรร้อยละ 50 สูญเสียโอกาส ผลจากนักท่องเที่ยวลดลงกว่าครึ่ง

สสว. ประเมินผลการชุมนุมทางการเมืองเดือน มี.ค. 57 กระทบด้านลบต่อ SMEs ร้อยละ 76 ส่วนใหญ่เป็นด้านยอดขายและจำนวนลูกค้า เผยผู้ประกอบการตลาดนัดจตุจักรร้อยละ 50 สูญเสียโอกาส ผลจากนักท่องเที่ยวลดลงกว่าครึ่ง
นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองต่อการดำเนินธุรกิจด้านต่างๆ โดยล่าสุดได้ทำการสำรวจเดือนมีนาคม 2557 ในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้าและภาคบริการ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งผู้ประกอบการในย่านการค้าตลาดนัดจตุจักรประมาณ 500 ราย พบว่าผู้ประกอบการ SMEs ยังคงได้รับผลกระทบในทางลบจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง แต่มีระดับความรุนแรงที่ลดลง
ผลสำรวจในเดือนมีนาคม ผู้ประกอบการร้อยละ 76 ได้รับผลกระทบในทางลบ แต่เมื่อพิจารณาระดับความรุนแรง พบว่าได้รับผลกระทบมากร้อยละ 42 ปานกลางร้อยละ 22 และน้อยร้อยละ 12 ซึ่งลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ ที่ได้รับผลกระทบมากร้อยละ 56 ปานกลางร้อยละ 25 และน้อยร้อยละ 4 โดยผลกระทบที่ได้รับคือ ด้านยอดขายและจำนวนลูกค้าที่ลดลงเป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจภาคบริการเริ่มมีความกังวลเรื่องภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในการลงทุนของประเทศ
สำหรับผลกระทบต่อรายได้ต่อเดือนเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปกติ พบว่าในภาพรวมมีรายได้เฉลี่ยลดลงร้อยละ 42 ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน กุมภาพันธ์ ที่ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 50 โดยเฉพาะธุรกิจภาคการผลิตในกลุ่ม SMEs ที่มีการลงทุนน้อยกว่า 1 ล้านบาท หรือธุรกิจรายย่อย จัดเป็นกลุ่มที่สถานการณ์ดีขึ้นมาก เห็นได้จากรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสำหรับเดือนมีนาคม ที่ลดลงร้อยละ 44 นั้น นับว่าดีขึ้นกว่าช่วงเดือน มกราคม- กุมภาพันธ์ ที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนลดลงร้อยละ 51 ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่กว่ายังคงทรงตัว
ในส่วนภาวะการค้าขายประจำเดือนมีนาคม จากการสำรวจกลุ่มผู้ประกอบการค้าตลาดนัดจตุจักร พบว่า การชุมนุมทางการเมือง ส่งผลให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ดังกล่าว สูญเสียโอกาสทางธุรกิจเฉลี่ยประมาณร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ โดยเมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า ผลกระทบมากที่สุดคือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่ลดลงถึงร้อยละ 70 รองลงมาได้แก่ ประชาชนเที่ยวตลาดนัดสวนจตุจักรในวันเสาร์-อาทิตย์ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ การค้าส่งภายในประเทศ รวมทั้งการค้าปลีก ที่ลดลงร้อยละ 50 และกำลังซื้อลดลงร้อยละ 40 ตามลำดับ
ทั้งนี้โดยภาพรวมพบว่า ผู้ประกอบการ SMEs มีการปรับตัวต่อสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดมากที่สุด เพื่อกระตุ้นยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยการขายสินค้าที่ได้กำไรสูง เพิ่มชนิดของสินค้า ลงทุนด้านโฆษณาและส่งเสริมการขายเพิ่มมากขึ้น รองลงมาคือ การลดค่าใช้จ่ายและการปรับกระบวนการทำงาน