SMEs เมียนมาร์เสียงแตกร่วมทุนต่างชาติหรือทำเองดีกว่า

หน่วยงานหนุนเอสเอ็มอีในเมียนมาร์เสียงแตก เลขาฯสภาหอแนะหลีกเลี่ยงร่วมทุนต่างชาติ ฝั่งประธานหอการค้าชี้ร่วมทุนเอสเอ็มเมียนมาร์ได้ประโยชน์กว่า



    หน่วยงานหนุนเอสเอ็มอีในเมียนมาร์เสียงแตก เลขาฯสภาหอแนะหลีกเลี่ยงร่วมทุนต่างชาติ ฝั่งประธานหอการค้าชี้ร่วมทุนเอสเอ็มเมียนมาร์ได้ประโยชน์กว่า

    สื่อในเมียนมาร์รายงานว่ารัฐบาลประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้กำหนดให้ปี 2558 เป็นปีแห่งการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มีการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยมีทั้งผู้ที่เสนอให้ยืนอยู่บนขาตัวเองและฝ่ายที่สนับสนุนให้ร่วมทุนกับต่างชาติ

    Mr.Mying Zaw เลขาธิการร่วมสภาหอการค้าและสหพันธ์อุตสาหกรรมแห่งเมียนมาร์ แถลงข่าวกับสื่อมวลชนท้องถิ่นเสนอให้เอสเอ็มอีในประเทศ หลีกเลี่ยงการร่วมลงทุนหรือเป็นหุ้นส่วนกับต่างชาติ ที่กำลังจะแห่เข้ามาในตลาดหลังการรวมตัวเป็นเออีซี โดยระบุว่าการยืนอยู่บนขาตัวเองจะมีประโยชน์กว่า

    สื่อท้องถิ่นระบุว่า ข้อเสนอของ Mr.Mying Zaw ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับถ้อยแถลงของ  Mr.Win Aung ประธานหอการค้า ซึ่งให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อรวมตัวเป็นเออีซี แล้ว การแข่งขันในตลาดจะรุนแรง ดังนั้นการร่วมเป็นพันธมิตรกับธุรกิจต่างชาติเป็นทิศทางที่ถูกต้อง

    Mr. Win Aung ได้กล่าวในงานสัมมนาในหัวข้อการสร้างพันธมิตรเชิงบวกจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า “เราต้องตั้งเป้าที่จะเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตร ผมเชื่อว่าการทำเช่นนี้จะช่วยยกระดับให้ธุรกิจของเราประสบความสำเร็จ”

    Mr.Win Aung ได้ยกตัวอย่างว่าขณะนี้ได้มีการจัดงานสัมมนาและแสดงสินค้าของธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าของกองทัพบ่อยครั้งโดยออร์แกไนเซอร์จากประเทศไทยและมาเลเซีย ตามนโยบายของรัฐบาลที่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาช่วยธุรกิจขนาดเล็กในประเทศ

    ประธานหอการค้าเมียนมาร์ กล่าวว่าการพัฒนาเอสเอ็มอี ต้องใช้เวลานานไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ในเร็ววันแม้จะได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างชาติ เพราะปัญหาของเอสเอ็มอีในประเทศมีหลายด้าน นอกจากทางความรู้แล้วยังมีเงินทุนโดยได้ยกตัวอย่างโครงการช่วยเหลือทางด้านเงินทุนจากญี่ปุ่นซึ่งช่วยได้เพียงจำนวนหนึ่ง ทำให้เอสเอ็มอีส์ที่เหลือยังคงต้องกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยอย่างต่ำ 8.5% อยู่

    สื่อท้องถิ่นในเมียนมาร์ยังได้รายงานว่า รัฐบาลเมียนมาร์ได้จัดทำการสำรวจข้อมูลจาก 3,000 กิจการเอกชนทั่วประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อเร็วๆนี้ โดยพบสัดส่วน 97% ของกิจการเอกชนทั้งหมดในประเทศเป็นเอสเอ็มอี

    การสำรวจพบด้วยว่า กว่าครึ่งของเอสเอ็มอีที่สำรวจเป็นกิจการที่มีขนาดเล็กมาก มีลูกจ้างเฉลี่ย 10 คน ในขณะที่ 30% ของเอสเอ็มอีที่สำรวจมีลูกจ้าง 10-49 คน มี 10% ของเอสเอ็มอีส์ที่มีลูกจ้าง 50-249 ขณะที่กิจการที่มีการจ้างงาน 250 คนขึ้นไปมีเพียง 3%

    นักวิเคราะห์ธุรกิจในเมียนมาร์ระบุว่า แม้ว่ากิจการเอสเอ็มอีจะมีสัดส่วนจำนวนสูงสุดในธุรกิจเอกชน แต่รัฐบาลยังไม่ให้ความสนใจมากนัก เนื่องจากรัฐขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาธุรกิจขนาดเล็ก นอกจากนั้นยังมีแนวคิดในการพัฒนาที่ขัดแย้งกัน โดยฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการให้ร่วมทุนกับต่างชาติ

ที่มา : www.thanonline.com

NEWS & TRENDS