​ธปท.ห่วง SMEs สายป่านสั้นต้องติดตามใกล้ชิด

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความเห็นกรณี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ทำรัฐประหารโดยยอมรับว่า ความเชื่อมั่นจะถูกกระทบค่อนข้างมาก และจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ในปีนี้ขยายตัวค่อนข้างต่ำ ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจนั้นมองว่าพื้นฐ..




    นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความเห็นกรณี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ทำรัฐประหารโดยยอมรับว่า ความเชื่อมั่นจะถูกกระทบค่อนข้างมาก และจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ในปีนี้ขยายตัวค่อนข้างต่ำ ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจนั้นมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งอยู่  เช่น อัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ ตลาดเครดิต และฐานะธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ ตลาดหุ้น ยังเปิดซื้อขายปกติ 

                   ปัญหาเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมองว่าธุรกิจที่น่าเป็นห่วงคือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เนื่องจากสายป่านสั้น และได้รับผลกระทบทางการเมือง รายได้ต่ำลง ทำให้ภาคครัวเรือนก่อหนี้มากขึ้น ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเชื่อว่าถ้าความเชื่อมั่นกลับมาได้ คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี เพราะจุดสำคัญตอนนี้คือทุกคนเฝ้ารอคือการจัดตั้งรัฐบาล และความสามารถของรัฐบาลใหม่ และการเรียกความเชื่อมั่นทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาชน

                      ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่า บริษัทอันดับเครดิตจะถูกลดอันดับความเชื่อถือหลังการรัฐประหารนั้นเชื่อว่า สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมีเกณฑ์การวิเคราะห์อยู่แล้ว และหากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ ความเชื่อมั่นจะกลับมาโดยเร็ว และจะไม่กระทบต่อการจัดอันดับเครดิตของประเทศ

                 สำหรับกรณีมอร์แกน สแตนเลย์คาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าถึง 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น  ปัจจุบันค่าเงินบาทอยู่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ถือว่ายังมีเสถียรภาพ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูง แม้ว่า นักลงทุนจะขายหุ้นออกไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นผลกระทบอะไร

                   นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม ควรหาวิธีที่จะทำให้ประเทศเกิดความสงบอย่างถาวร เพราะความรุนแรง และความไม่สงบ เป็นปัญหาที่ทำร้ายประเทศมานาน อีกทั้งความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น และยืดเยื้อ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น แต่แม้การเมืองจะดีขึ้น เศรษฐกิจไทยขณะนี้ก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากนโยบายประชานิยม ทำให้ความต้องการในประเทศหดหาย ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว

                ทั้งนี้ ในปีนี้ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คงต้องหวังพึ่งการส่งออก เพราะงบประมาณ ที่จะเอามากระตุ้นเศรษฐกิจมีจำกัด และเศรษฐกิจไตรมาส 2 ก็คงไม่แตกต่างจากไตรมาสแรก ที่เศรษฐกิจติดลบ 0.6% โดยหากการส่งออกสามารถขยายตัวได้ประมาณ 5% เศรษฐกิจไทยก็น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 2.5 จากกรอบที่วางไว้ 2-3% 

ที่มา : แนวหน้า

NEWS & TRENDS