​ปลัดคลังเรียนผู้บริหารถกด่วนอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ปลัดคลัง” เรียกผู้บริหารของกระทรวงฯก่อนนัดถกด่วนกับ "ประยุทธ์"ดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ พร้อมเร่งจัดทำงบประมาณเพื่อให้ใช้ได้ทัน ผลักดันวงเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง



“ปลัดคลัง” เรียกผู้บริหารของกระทรวงฯก่อนนัดถกด่วนกับ "ประยุทธ์"ดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ พร้อมเร่งจัดทำงบประมาณเพื่อให้ใช้ได้ทัน ผลักดันวงเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง

    นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง และปฏิบัติหน้าที่ รมว.คลัง ตามคำสั่งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เรียกประชุมผู้บริหารคลังทั้งหมดเพื่อเตรียมมาตรกระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจเร่งด่วนเข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หัวหน้า คสช.  โดยมอบหมายให้ สศค.รวบรวมมาตรการทั้งหมด เบื้องต้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาจะต้องเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เช่น การทำงบประมาณปี 2558 เพื่อให้ใช้ได้ทัน 1 ต.ค.2557 ก็จะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจ ทำให้มีวงเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง แต่จะขาดดุลเป็นจำนวนเท่าไรนั้น ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

    นายสมชัยกล่าวถึงการคงภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)จาก 10% เป็น 7% ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.2557 ว่าจะเห็นสมควรจะขยายเวลาออกไปอีกกี่ปี ซึ่งทาง สศค. จะต้องเสนอทางเลือกให้เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายเวลาการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 20% ออกไปอีกระยะหนึ่งเพื่อรอให้รัฐบาลเสนอสภาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแก้ไขกฎหมายลดภาษีเป็นการถาวร
    
    ขณะเดียวกัน นายรังสรรค์ ยังได้ให้ สศค. ศึกษาผลกระทบการรัฐประหารที่มีผลต่อเศรษฐกิจและการเก็บรายได้ เนื่องจากที่ผ่านมาการเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าค่อนข้างมาก ซึ่งนายรังสรรค์ ได้สั่งให้อธิบดีกรมภาษีทั้ง 3 กรม เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีให้มากที่สุด

                "มาตรการทุกอย่าง กระทรวงการคลัง เดินหน้าได้เลย เพราะถือว่าตอนนี้ฝ่ายต่างๆ มีอำนาจเต็มแล้ว ท่านปลัดคลัง ก็ทำหน้าที่ รมว.คลัง มีอำนาจดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้เต็มที่ ตอนนี้ก็อยู่ที่ท่านประยุทธ ที่ทำหน้าที่ นายกรัฐมนตรี จะเรียกคลังเข้าไปพบเมื่อไร ก็จะเสนอทั้งหมดให้ดำเนินการทันที"

    นายสมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังประเมินยากว่าการรัฐประหารกระทบเศรษฐกิจมากน้อยขนาดไหน ส่วนหนึ่งต่างชาติไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่หากผู้นำประเทศให้ความมั่นใจนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ เดินหน้าต่อ ไม่มีการปิดประเทศ เชื่อว่าต่างชาติก็จะเข้าใจ และเข้ามาลงทุนเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ยังมีผลดีจากการเปลี่ยนแปลงทำให้นโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ เดินหน้าได้ เพราะมีครม.มีอำนาจเต็มบริหารประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไม่ชะลอตัวมากอย่างที่คาดไว้ แต่จะขยายตัวได้มากกว่า 2% ต่อปี หรือไม่ ต้องประเมินอีกครั้ง

ที่มา : แนวหน้า

NEWS & TRENDS