มติ 7 องค์กรกลับไปทำแผนฟื้นฟูระยะสั้น-ยาวเสนอ คสช.

วานนี้ 7 องค์กรภาคธุรกิจ ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, สภาธุรกิจท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดแผนปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ในการเสนอต่อ..



    วานนี้  7 องค์กรภาคธุรกิจ ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, สภาธุรกิจท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย  ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดแผนปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ในการเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

    นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมร่วม 7 องค์กรภาคธุรกิจว่า  ที่ประชุมฯ มีมติให้แต่ละองค์กรฯ กลับไปจัดทำแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นการค้า การลงทุนกลับคืนสู่ประเทศ ด้วยการรวบรวมแนวคิดและมาตรการต่างๆ ทั้งในแผนระยะสั้น และระยะยาว 15 - 20 ปีที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ จากนั้นจะนำแผนหารือข้อสรุปในแต่ละองค์กรกลับมาหารือร่วมกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นมาตรการในภาพรวมของ 7 องค์กร และเตรียมนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อไป
          
    ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเลขาธิการที่ประชุมร่วม 7 องค์กรภาคธุรกิจ กล่าวว่า เอกชนเห็นว่า ขณะนี้การหารือทั้ง 7 กรอบแนวทาง ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เอกชนต้องการช่วยเหลือประเทศไทยในการเปลี่ยนแปลง สู่ความเข้มแข็งของสังคมและเศรษฐกิจโดยหลังจากมีข้อสรุปแล้วจะเปิดเผยอีกครั้งก่อนนำเสนอ คสช.

    ด้านนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งวางกรอบไว้ 7 ด้าน เพื่อให้แต่ละองค์กรไปหาแนวทางดำเนินการเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในแต่ละด้าน ประกอบด้วย 1. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2. การลงทุนของภาครัฐและเอกชน 3. การศึกษาและนวัตกรรม 4. ด้านสังคมและการลดความเหลื่อมล้ำ 5. ธรรมาภิบาล 6. การพัฒนากฎระเบียบของภาครัฐ และ 7. โครงสร้างใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
      
    ทั้งนี้ คสช. ควรเร่งแก้ปัญหาเร่งด่วน ในการสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างประเทศให้กลับมาโดยเร็ว ซึ่งทาง ส.อ.ท. เตรียมหารือกับสภาหอการค้าต่างประเทศ เพื่อยืนยันว่าภาคอุตสาหกรรมไทย พร้อมที่จะจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อได้ตามปกติ จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในการสั่งซื้อสินค้าไทยต่อไป

NEWS & TRENDS