ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธ.ไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ส่งออกไทย เผยอาจขยายตัวต่ำกว่าที่คาด เหตุตัวเลขส่งออกเรียงแถวหดตัว
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธ.ไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ส่งออกไทย เผยอาจขยายตัวต่ำกว่าที่คาด เหตุตัวเลขส่งออกเรียงแถวหดตัว
กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนเมษายนอยู่ที่ 17.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 0.9%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า) ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 18.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 14.5%YOY ดุลการค้าขาดดุล 1,453 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับการส่งออกไปจีนหดตัวทุกเดือนนับตั้งแต่เริ่มปี 2014 เป็นต้นมา โดยเดือนล่าสุดหดตัวสูงถึง 9.5% ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี การส่งออกไปจีนหดตัวราว 5.6% ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอาเซียน 5 (สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ บรูไน) หดตัวค่อนข้างมากราว 10.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะสิงคโปร์และอินโดนีเซียที่หดตัวมากกว่า 20% นอกจากนี้ การส่งออกไปญี่ปุ่นยังหดตัวเป็นครั้งแรกของปี (-4.5%) จากความต้องการนำเข้าสินค้าที่ชะลอลงภายหลังการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มของญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
ส่วนการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบเริ่มน่ากังวล มูลค่าการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบในเดือนเมษายนหดตัว 7.5% นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรก อันได้แก่ สหรัฐฯ ฮ่องกง และจีน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่ง ล้วนหดตัวทั้งหมด
นอกจากนี้ การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบที่กลับมาหดตัวอีกครั้งหลังจากขยายตัวในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า รวมถึงการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าที่หดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2013 เป็นต้นมา ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกในเดือนเมษายนลดลง ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญเกือบทุกชนิดยังคงหดตัว โดยเฉพาะยางพาราที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำอย่างรุนแรงทำให้หดตัวสูงถึง 27.4%
การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบยังหดตัวในระดับสูง มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบยังหดตัวมากกว่า 10% โดยการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ หดตัวในระดับสูง ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบลดลงราว 14% ส่งผลให้การนำเข้าโดยรวมหดตัวค่อนข้างมาก ทั้งนี้การนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ และเชื้อเพลิงที่ลดลงสะท้อนถึงภาวะการลงทุนและการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัวลง
ดุลการค้าขาดดุล 1,453 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกในระดับต่ำทำให้ดุลการค้ากลับมาขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน