มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงการคิดค้นวิธีการนำ หินบะซอลต์ (Basalt) มาเพิ่มมูลค่า โดยใช้กระบวนการทาง วิศวกรรมย้อนรอย หรือ Reverse Engineering
ดร.คุณยุต เอี่ยมสอาด พร้อมทีมนักวิจัย ประกอบด้วย นายกิตตินาถ วรรณิสสร นายนพพร บึกแว่น จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ รศ ดร.วรัทยา ธรรมกิตติภพ ภาควิชาอาชีวศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงการคิดค้นวิธีการนำ หินบะซอลต์ (Basalt) มาเพิ่มมูลค่า โดยใช้กระบวนการทาง วิศวกรรมย้อนรอย หรือ Reverse Engineering ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทบุคลากรจูเนียร์ จากการประกวดนวัตกรรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2556
ดร.คุณยุต เอี่ยมสอาด ให้รายละเอียดว่า วิศวกรรมย้อนรอย คือ กระบวนการผลิตชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากการศึกษาวิเคราะห์ขอมูลด้านต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ต้นแบบอย่างเป็นระบบ ช่วยในการสร้างรูปร่างต้นแบบการปรับปรุงกระบวนการผลิตที่ดี ช่วยในการขึ้นรูปด้วยการกัดแต่ง ถือเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มประเภทของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก โดยเฉพาะการแกะสลักหินบะซอลต์ ให้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนได้ ทั้งนี้การเพิ่มมูลค่าบะซอลต์ด้วยเทคโนโลยีวิศวกรรมย้อนรอยและเครื่องจักรซีเอ็นซี นับเป็นนวัตกรรมใหม่ในการพัฒนาอาชีพให้แก่คนในชุมชนและเป็นการพัฒนาสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ OTOP ของชุมชนที่มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างหินบะซอลต์ให้เกิดคุณค่าได้อย่างดีที่สุด
สำหรับขั้นตอนการนำเทคโนโลยีวิศวกรรมย้อนรอยมาผลิตเป็นชิ้นงานนั้น เริ่มจาก การนำชิ้นงานต้นแบบขนาดไม่ใหญ่เกินไป ที่ได้ออกแบบและปั้นหรือแกะสลักโดยช่างที่มีความชำนาญ มาทำการสแกนโดยใช้เครื่องสแกนเนอร์สามมิติด้วยเลเซอร์ (3D Laser Scan) เพื่อให้ได้ข้อมูลเป็นรูปทรงตัน สามมิติในคอมพิวเตอร์
เมื่อได้ข้อมูลวัตถุทรงตันแล้ว นำโปรแกรม CAD (Computer Aided Design) มาทำการปรับแต่ง โดยการย่อ –ขยาย ให้ได้ขนาดตามต้องการ ซึ่งสามารถทำการปรับแก้ไขเฉพาะส่วนโดยง่ายเพื่อให้ได้รูปร่างที่ต้องการ และยังรวดเร็วกว่าการแก้ไขแบบโดยวิธีทั่วไป เมื่อได้ชิ้นงานตามต้องการแล้ว ก็ใช้ CAM (Computer Aided Manufacturing) ทำการแปลงชิ้นงานให้เป็น Code โปรแกรม G-Code และ M-Code เพื่อนำไปเข้าเครื่อง CNC (Computer Numerical Control) เพื่อทำการผลิตชิ้นงานตามที่ได้ออกแบบไว้ต่อไป
ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าว สามารถนำไปสร้างงานให้แก่ชุมชนในจังหวัดแพร่ ที่เป็นจังหวัดที่มีหินบะซอลต์อยู่เป็นจำนวนมาก โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การเพิ่มมูลค่าหินบะซอลต์ แบบไม่ต้องอาศัยทักษะ การแกะสลักด้วยมือ (No skill require) เพื่อให้ชุมชนสามารถแกะสลักหินหรือผลิตงานการแปรรูปหินบะซอลต์ตามภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
นับเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ขยายสู่อุตสาหกรรมในอนาคต และเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในชุมชนด้วยองค์ความรู้และวิธีการใหม่ ตรงตามปรัชญาของ OTOP อย่างชัดเจน โดย ผลงานที่ผลิตได้ เช่น นาฬิกาตั้งโต๊ะ พระพุทธรูป มีความงดงามในเวลาอันรวดเร็ว สามารถลดเวลาการผลิตได้ และยังเป็นการเพิ่มปริมาณการผลิต อีกทั้งเพิ่มมูลค่าของหินบะซอลต์ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งและหาได้ง่ายในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังสร้างสินค้า OTOP ประเภทใหม่ เพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกด้วย
ที่มา : www.neawna.com