หวั่นแรงงานขาดแคลนเล็งเสนอ คสช. รื้อระบบอาชีวะ

หวั่นแรงงานสายช่างขาดแคลน หลังผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องการแรงงานกว่า 1.5 หมื่นอัตรา "เปรมประชา"เล็งเสนอ คสช.รื้อระบบผลิตเด็กสายอาชีพ



หวั่นแรงงานสายช่างขาดแคลน หลังผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องการแรงงานกว่า 1.5 หมื่นอัตรา "เปรมประชา"เล็งเสนอ คสช.รื้อระบบผลิตเด็กสายอาชีพ

    นายเปรมประชา ศุภสมุทร นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก และกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เปิดเผย ปัจจุบันความต้องการแรงงานในสายอาชีพของประเทศไทยยังมีสูง โดยข้อมูลจากกรมการจัดหางานในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาระบุว่าได้รับแจ้งความต้องการแรงงาน (ตำแหน่งงานว่าง) จากนายจ้าง/สถานประกอบการ จำนวน 35,337 อัตรา โดยมีผู้มาสมัครงาน 49,233 คน และบรรจุงานได้ 33,290 คน ทั้งนี้

    สำหรับอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต 15,431 อัตรา รองลงมาคือ การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และ

จักรยานยนต์ 7,859 อัตรา ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 1,977 อัตรา การบริหารราชการ การป้องกันประเทศ 1,536 อัตรา และการให้ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 1,305 อัตรา

    ทั้งนี้จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า ความต้องการแรงงานในสายอุตสาหกรรมการผลิตมีสัดส่วนที่สูงมากที่สุด ซึ่งตรงกับสิ่งที่บริษัทเอกชนทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก สะท้อนปัญหาว่าการผลิตแรงงานในสายอาชีพ โดยเฉพาะสายช่างในประเทศไทย ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยข้อมูลปัจจุบันนักเรียนสายอาชีพที่อยู่สถาบันศึกษาอาชีวะทั่วประเทศ มี

ประมาณ 6.3 แสนคน อยู่ในสายช่างอุตสาหกรรม 3.4 แสนคน และนอกสายช่างอุตสาหกรรม ได้แก่ พาณิชยกรรม สารสนเทศ คหกรรม ประมง เกษตร ศิลปกรรม และสิ่งทอ ประมาณ 2.9 แสนคน

    "จะเสนอแนวทางการผลิตแรงงานสายอาชีพให้พอเพียงและมีคุณภาพให้กับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมและจิตวิทยา ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ดูแลหน่วยงานด้านการศึกษาให้พิจารณาการวางแผนผลิตนักเรียนระดับอาชีวะศึกษา ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและภาคเอกชน โดยแนวทางการพัฒนาการผลิตแรงงานสายอาชีพ ที่จะนำเสนอจะเป็นการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบุคลากรสายอาชีพ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา สำนักงานการศึกษาเอกชน รวมทั้งสถาบันการอาชีวะศึกษาทั้ง 19 แห่งทั่วประเทศด้วย”

    นายเปรมประชา กล่าวอีกว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จะต้องให้ความสำคัญกับการผลักดันเรื่องเส้นทางอาชีพของนักเรียนที่เรียนสายอาชีพ ให้สามารถเจริญเติบโตในหน้าที่การงานได้ ทั้งในหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน และประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อแนะแนวการศึกษาในสายอาชีพให้กับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อให้เห็นเส้นทางอาชีพที่ชัดจน

    นอกจากนั้นจะต้องผลักดันการสร้างนักเรียนสายอาชีพ โดยเฉพาะสายช่างผ่านมาตรการการเงิน เช่น การเพิ่มเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในสาขาช่างที่ขาดแคลน อาทิ ช่างยนต์ ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อมีความชัดเจนในมาตรการต่างๆ แล้วจะสามารถชี้แจงให้กับผู้ปกครองให้เปลี่ยนทัศนคติที่ไม่ดีต่อการส่งบุตรหลานไปเรียนในสายอาชีพได้

ที่มา : www.bangkokbiznews.com

NEWS & TRENDS