ภาคธุรกิจหวั่นแรงงานขาดแคลน ส.อ.ท.เร่งประเมินผลกระทบ

ส.อ.ท.ประเมินผลกระทบแรงงานกัมพูชาแห่กลับประเทศนับแสน ชี้เป็นเพียงระยะสั้น แต่อาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตฯก่อสร้าง โรงโม่ ประมง ส่วนภาคผลิตไม่มีผลเพราะส่วนใหญ่ใช้แรงงานไทย

ภาคธุรกิจหวั่นแรงงานขาดแคลน ส.อ.ท.เร่งประเมินผลกระทบ

    

    นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลกระทบจากการที่แรงงานกัมพูชาอพยพกลับประเทศว่า ส.อ.ท.ประเมินว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นๆ ไม่น่าจะเกิน 1 เดือน เพราะมั่นใจว่า คสช.จะเร่งประชาสัมพันธ์และแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้นานจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยระยะสั้นมองว่าภาคอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมโรงโม่ และกลุ่มประมงบางส่วน แต่ด้านภาคการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานไทย

    "ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความเข้าใจผิดของทางกลุ่มแรงงาน ที่มีข่าวว่าจะมีการกวาดล้างแรงงานมากกว่า ที่จริงแล้วเป็นการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องถูกกฎหมายมากกว่า ยอมรับเป็นเรื่องลำบากเพราะปัจจุบันแรงงานแรงงานในไทยก็ขาดแคลนอยู่ ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก ในอนาคตภาคธุรกิจคงมีแนวโน้มว่าจะต้องอาศัยเทคโนโลยีเครื่องจักรเข้ามาช่วยแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน"

    ด้านนายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานงานแรงงาน ส.อ.ท. กล่าวว่าช่วงนี้ภาคอุตสาหกรรมคงจะได้รับผลกระทบไม่มาก จากการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานกัมพูชา แต่คสช.รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเร่งชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อาจจะส่งผลให้สถานการณ์ลุกลามไปยังแรงงานลาวและพม่าที่เป็นแรงงานขนาดใหญ่ได้

    โดยแรงงานกัมพูชาในไทยมีอยู่ประมาณ 460,000 คน มีทั้งเข้ามาแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ปัจจุบันมีแรงงานกัมพูชาเดินทางออกนอกประเทศไปแล้วประมาณ 80,000 คน เป็นกลุ่มที่เข้ามาทำงานไม่ถูกต้องแต่ขอยื่นบัญชีเพื่อขอใบรับรองจากประเทศต้นทางเอาไว้ เมื่อมีข่าวเกิดขึ้นทำให้ดึงแรงงานที่ถูกกฎหมายออกไปด้วย

    ส่วนนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสอท. กล่าวว่าการที่คสช.มีนโยบายเพิ่มความเข้มงวดกับแรงงานต่างด้าว จนเกิดกระแสข่าวรุนแรง ทำให้แรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะกัมพูชาได้เคลื่อนย้ายออกจากไทยหลายแสนคนนั้น ขณะนี้ ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการประเมินข้อมูลถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ในเบื้องต้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจะอยู่ในภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานกัมพูชาเป็นจำนวนมาก ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่มองว่าจะกระทบไม่มาก เพราะปีนี้อุตสาหกรรมก่อสร้างอยู่ในขาลง 2.อุตสาหกรรมประมงในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ จ.ระยอง จันทบุรี และตราด กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบโดยตรง 3.ธุรกิจการเกษตร เช่น การทำสวนยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก และ 4.ในธุรกิจร้านอาหารต่างๆ

    ทั้งนี้ในภาคการผลิตของไทยหากเป็นโรงงานที่ผลิตเพื่อการส่งออกส่วนใหญ่จะใช้แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย เพราะประเทศผู้ซื้อต่างให้ความสำคัญเรื่องของมาตรฐานแรงงาน ดังนั้นผู้ประกอบการทุกรายต้องปฏิบัติตาม ส่วนโรงงานที่เน้นตลาดภายในประเทศ อาจจะมีบางส่วนที่ใช้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย

ที่มา : www.bangkokbiznews.com

NEWS & TRENDS