กสอ.วาง 4 ยุทธศาสตร์ยกระดับไทยสู่เมืองแฟชั่นแห่งอาเซียน พร้อมผลักดันการพัฒนาใน ด้าน คน ธุรกิจ และรวมกลุ่ม
กสอ.วาง 4 ยุทธศาสตร์ยกระดับไทยสู่เมืองแฟชั่นแห่งอาเซียน พร้อมผลักดันการพัฒนาใน ด้าน คน ธุรกิจ และรวมกลุ่ม
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการยกระดับไทยสู่เมืองแฟชั่นแห่งอาเซียน ผ่าน 4 ยุทธศาสตร์สำคัญคือ การสร้างปัจจัยเอื้อ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน การส่งเสริมด้านการตลาด และการสร้างการรับรู้และภาพลักษณ์
สำหรับปี 2557 ตั้งเป้าผลักดันการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ การพัฒนาคน การพัฒนาธุรกิจ และ การพัฒนาการรวมกลุ่ม โดยในด้านการพัฒนาคนคาดว่าจะมีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 2,200 คน เป็นการให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติกับนักออกแบบ ช่างทำแพทเทิร์น และผู้บริหารระดับกลางในอุตสาหกรรมแฟชั่น ผ่านกิจกรรมที่สำคัญ 4 กิจกรรม ได้แก่
1. การประยุกต์ใช้แนวโน้มแฟชั่น (Fashion Trend) เพื่อเชื่อมโยงกับการออกแบบสินค้าแฟชั่น 2. การพัฒนานักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่น การเพิ่มทักษะให้กับช่างทำแพทเทิร์น การพัฒนาผู้บริหารระดับกลางในอุตสาหกรรมแฟชั่น 3. ด้านการพัฒนาธุรกิจจะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพใน 2 ด้านคือ ประสิทธิภาพด้านการผลิตและประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ โดยปีนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาจำนวน 225 กิจการ และ 4. การพัฒนาย่านการค้าสินค้าแฟชั่น อาทิ สยามสแควร์ จตุจักร ประตูน้ำ และบางลำพู ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่นมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความป็นพลวัตสูง และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เพื่อแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง จะเห็นได้ว่าวัตถุดิบที่เป็นองค์ประกอบของสินค้าแฟชั่นไม่ได้มีมูลค่าสูงมากนัก แต่สินค้าแฟชั่นเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย (End Products) ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่มีต่อวัตถุดิบนั้น ๆ ได้หลายเท่า
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยประกอบด้วยอุตสาหกรรม 3 สาขาหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยสถานการณ์การส่งออก ในปี 2556 พบว่ามูลค่าส่งออกรวมจำนวน 19,518 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม 7,584.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องหนังและรองเท้า 1,741.1 ล้านเหรียญสหรัฐ อัญมณีและเครื่องประดับ 10,193 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับเป้าหมายของประเทศไทยคือ การทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าแฟชั่นในอาเซียน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าได้นั้นสามารถวิเคราะห์ได้ใน 2 มุมมอง คือ Outside In กับ Inside Out โดยหากมองในมุม Outside In คือ การจูงใจและเอื้ออำนวยให้ Traders สนใจเข้ามาซื้อสินค้าในประเทศไทย รวมทั้งการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสซื้อสินค้าแฟชั่นของไทยมากขึ้น
ดังนั้น จำเป็นต้องทำให้ประเทศไทยเป็น Fashion Shopping Paradise สำหรับทั้ง Trader และ Tourist รวมทั้งจำเป็นต้องสร้างระบบ logistic ที่เอื้อต่อการส่งออกสินค้าแฟชั่น การสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคทั้งในและนักท่องเที่ยวให้รับทราบว่าเมืองไทยนอกจากจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติแล้ว สินค้าที่มีชื่อเสียงของไทยคือสินค้าแฟชั่นที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องซื้อกลับไป (PPP : Piece per person) ดังนั้นจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดแหล่งช้อปปิ้ง ทั้ง Shopping Street / Shopping Area / Shopping Building ที่หลากหลายทั้งในมิติของพื้นที่และสินค้าเฉพาะอย่าง รวมทั้งต้องกระจายออกไปในจังหวัดที่มีศักยภาพนอกจากกรุงเทพฯ ด้วย
หากจะมองในมุม Inside Out คือ การทำให้นักออกแบบไทยและตราสินค้าของไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดต่างประเทศ โดยการเสริมสร้างความสามารถให้กับนักออกแบบที่มีศักยภาพในการพัฒนาสร้าง Brands ให้แข็งแกร่ง สร้างโอกาสในการนำเสนอสินค้าแฟชั่นไทยในรูปแบบต่าง ๆ
ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของ กสอ. สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่หก กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2202-4546 หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th