ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองท่ามกลางภาวะอ่อนแรงของกำลังซื้อภายในประเทศ การปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีค่อนข้างมีความยืดหยุ่น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่ามกลางภาวะอ่อนแรงของกำลังซื้อภายในประเทศ การปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีค่อนข้างมีความยืดหยุ่น อาจทำได้โดยการเพิ่มสัดส่วนและให้ความสำคัญมากขึ้นกับตลาดส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งในหลายธุรกิจก็ได้มีการวางแผนและดำเนินการไปบ้างแล้ว อาทิ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่เน้นผลิตเพื่อส่งออกอยู่แล้ว ควรใช้กลยุทธ์ทางการค้าที่เหมาะสมในการขยายตลาดศักยภาพเพิ่มเติม โดยเฉพาะในตลาดที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว/ขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ตลาดที่ผู้ส่งออกสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าผ่านความตกลงระหว่างประเทศต่างๆ รวมไปถึงตลาดที่ให้การยอมรับในคุณภาพของสินค้าไทย ได้แก่ ตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน (โดยเฉพาะกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม หรือ CLMV) พร้อมกับแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่อยู่เสมอภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงที่สอดคล้องกัน ซึ่งน่าจะเป็นแผนสำหรับการดำเนินการในระยะกลางถึงยาว
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ CLMV ถือเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยมีโอกาสสูงในการเจาะตลาดผู้บริโภค เนื่องจากยังมีแนวโน้มความต้องการสินค้าเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของความเป็นเมืองอีกมาก และผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ให้การตอบรับที่ดีต่อสินค้าไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ วัสดุก่อสร้าง และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่เน้นผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศเป็นหลักและมีข้อจำกัดในการขยายตลาดส่งออกนั้น อาจจำเป็นต้องกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้าผ่านการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพภายใต้ต้นทุนที่รับได้ รวมถึงการลดทอนความสูญเสียในกระบวนการผลิตเพื่อบริหารจัดการต้นทุน นอกจากนี้ การเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจ ทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน ปรับปรุงเครื่องมือเครื่องจักร การนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยที่จะดำเนินการเพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในยามที่สภาพเศรษฐกิจกลับมาเอื้ออำนวยอีกครั้ง