หลังสหรัฐอเมริกาได้ปรับลดระดับประเทศไทยให้อยู่ในบัญชีต่ำสุด (Tier 3) ภาวการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลเรื่องผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทยที่จะตามมา
เพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าภายหลังสหรัฐอเมริกาได้ปรับลดระดับประเทศไทยให้อยู่ในบัญชีต่ำสุด (Tier 3) ภาวการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลเรื่องผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทยที่จะตามมา รวมทั้งปัญหาจากการลงทุนอันเนื่องจากบริษัทข้ามชาติอาจพิจารณาทบทวนการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานที่มาจากการค้ามนุษย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ทั้งนี้ ผลกระทบทางตรงต่อการค้าอาหารของไทย สหรัฐฯอาจพิจารณาระงับให้ความช่วยเหลือที่มิใช่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและด้านการค้า เช่น ไม่สนับสนุนเงินทุนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศที่มีปัญหาการค้าแรงงานมนุษย์ในโครงการแลกเปลี่ยนการศึกษาและวัฒนธรรม
รวมถึงความร่วมมือด้านต่างๆ นอกจากนี้ สหรัฐฯ อาจจะคัดค้านการให้ความช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ บนเวทีขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือธนาคารโลก (World Bank) เป็นต้น
ส่วน ผลกระทบทางอ้อมจะเป็นในแง่ของภาพลักษณ์สินค้า โดยสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ประกอบด้วย กุ้ง ปลา น้ำตาลทราย สิ่งทอ รวมทั้งสินค้าจำพวกสื่อลามก ได้ถูกกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีว่าเป็นสินค้าที่ผลิตโดยใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ
รวมถึงได้มีการจัดทำรายงานและตีพิมพ์รายชื่อสินค้าจากประเทศไทย รวมทั้งสินค้านับร้อยรายการของ 73 ประเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ชาวอเมริกันในฐานะผู้บริโภคได้รับทราบ ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อภาพลักษณ์สินค้าในกลุ่มดังกล่าวแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์โดยรวมของสินค้าอาหารไทยในสายตาผู้บริโภคสหรัฐฯ รวมทั้งในตลาดโลกอีกด้วย
ทั้งนี้ หากไทยยังไม่สามารถทำให้สหรัฐฯ ถอดรายชื่อไทยออกจากการเป็นประเทศที่มีความรุนแรงด้านการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กรวมถึงแรงงานบังคับ อาจทำให้ทางการสหรัฐฯ ใช้พลังผู้บริโภคกดดันสินค้าไทยมากขึ้น รวมถึงอาจมีการพิจารณาเพิ่มกลุ่มสินค้าในบัญชีรายชื่อที่เชื่อว่ามีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ