​723 สินค้าโดนตัด GSP ปี 58 เอกชนห่วงส่งออกแข่งขันยาก

ภาคเอกชนเป็นห่วงสถานการณ์ส่งออกปี 58 อาจเป็นเสือลำบาก เหตุสินค้า 723 รายการโดนอียูตัด GSP แนะหันไปพึ่งตลาดอาเซียน จีน และอินเดีย



    ภาคเอกชนเป็นห่วงสถานการณ์ส่งออกปี 58 อาจเป็นเสือลำบาก เหตุสินค้า 723 รายการโดนอียูตัด GSP แนะหันไปพึ่งตลาดอาเซียน จีน และอินเดีย

    นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า ภาคเอกชนเป็นห่วงสถานการณ์การส่งออกไทยในปี 58 อย่างมากเนื่องจากในวันที่ 1 ม.ค. 58 จะมีสินค้าไทย 723 รายการจะถูกตัดออกจากบัญชีสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ของสหภาพยุโรป จากเดิมที่ถูกตัดสิทธิไปแล้ว 50 รายการ ส่งผลให้ไทยต้องเสียเปรียบทางการแข่งขันการค้าแก่ประเทศคู่แข่งมากขึ้นเพราะไทยจะมีต้นทุนการส่งออกที่สูงขึ้นจากปัจจุบันที่สินค้า 723 รายการได้รับการลดภาษีภายใต้สิทธิจีเอสพีอยู่ในระดับ 2-8% ก็จะต้องเสียภาษีเพิ่มเฉลี่ย 7-10%

    “แม้สิทธิพิเศษจีเอสพีจะไม่ได้ลดภาษีเป็น 0% แต่ก็ช่วยลดอัตราภาษีได้พอสมควรซึ่งมีผลต่อต้นทุนของผู้นำเข้า เช่น รองเท้าผ้าไบอัตราภาษีที่ได้จากจีเอสเพีอยู่ที่ 7.8%แต่เมื่อไม่มีสิทธิพิเศษจีเอสพีภาษีจะอยู่ที่ 17.8% ซึ่งถือว่าการแข่งขันหรือการส่งออกของไทยไปยุโรปโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นยาก”

     นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหาการส่งออกไทยหลังจากนี้จำเป็นต้องมุ่งมั่นไปยังตลาดอาเซียน จีน และอินเดีย ซึ่งแม้ว่าการส่งออกไปยังอาเซียนและจีนที่ผ่านมาจะมีตัวเลขส่งออกติดลบอย่างต่อเนื่องขณะที่การส่งออกไปยังอินเดียจะยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยแต่เป็นตลาดที่มีโอกาสและความต้องการสูง รวมถึงต้นทุนโลจิสติกส์ไม่สูงมากโดยเฉพาะประเทศอินเดียที่มีการพัฒนาท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งในเมืองท่าสำคัญดีขึ้นอย่างมากในขณะนี้ 

     ส่วนมาตรการเช่น  ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนการดำเนินงานด้านตลาดของภาคเอกชนและลดต้นทุนการส่งออกโดยสนับสนุนงบประมาณและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาต้นทุนโลจิสติกส์ที่สำคัญ    พร้อมทั้งมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการใหม่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าไทยให้มีความเข็มแข็งทั้งในส่วนของกระบวนการภายใน

     พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการและผู้ประกอบการในประเทศเป้าหมายสร้างความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบและสถานการณ์และพฤติกรรมการบริโภคภายในประเทศคู่ค้าเพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์และวางแผนทางธุรกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์และการแข่งขันรวมถึงการแก้กฎระเบียบต่างๆ 

ที่มา : www.daliynews.co.th

NEWS & TRENDS