SMEs ขยับลงทุนเพื่อนบ้านกระทบส่งออกอาเซียนลด

สค.แจงส่งออกอาเซียนลด เหตุส่งเสริมSMEดำเนินธุรกิจเพื่อนบ้าน รองรับการเปิดเออีซี ชี้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์รอบด้าน ค่าแรงต่ำ GSP ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ชูสินค้านวัตกรรม การสร้างแบรนด์ สู่การค้าขายยั่งยืน รัฐ-3สถาบันตั้งคณะทำงานบุกอาเซียน



สค.แจงส่งออกอาเซียนลด เหตุส่งเสริมSMEดำเนินธุรกิจเพื่อนบ้าน รองรับการเปิดเออีซี ชี้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์รอบด้าน ค่าแรงต่ำ GSP ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ชูสินค้านวัตกรรม การสร้างแบรนด์ สู่การค้าขายยั่งยืน รัฐ-3สถาบันตั้งคณะทำงานบุกอาเซียน

    นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการส่งออก 5 เดือนแรก (ม.ค. - พ.ค. 57) มีมูลค่า 92,862 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ลดลง 1.2% โดยเฉพาะตลาดอาเซียนลดลง 3.5% หรือ มูลค่า 23,770 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นผลมาจากปัจจัยความเสี่ยงที่ผ่านมาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

   จากการวิเคราะห์แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว แต่การค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก ทำให้ไทยอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวนี้ ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มยุโรปตะวันออก ทำให้เกิดการค้าขายทดแทนการนำเข้าที่ทำให้ตลาดอาเซียนลดลง รวมถึงต้องจับตาสินค้าจากประเทศจีนที่ไหลเข้ามาแย่งตลาดสินค้าไทยในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งผู้ประกอบการไทยขยายการลงทุนไปในตลาดอาเซียนมากขึ้น ซึ่งจะได้รับประโยชน์รอบด้าน

    ทั้งนี้ การขยายการลงทุนไปยังตลาดอาเซียนของไทยเป็นไปตามนโยบายต่อเนื่อง ในการส่งเสริมผู้ประกอบการไปการดำเนินธุรกิจในต่าประเทศ(Internationalization) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความ สามารถในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันประเทศในกลุ่มอาเซียนมีต้นทุนค่าแรงที่ถูกกว่า มีการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการจัดตั้งธุรกิจ ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในอาเซียนจะได้รับประโยชน์รอบด้านจะเพิ่มโอกาสทางการตลาดมากขึ้น โดยอาจเข้าร่วมทุนจัดตั้งโรงงานผลิตสินค้า อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มทั้งเอสเอ็มอีและรายใหญ่ประมาณ 50 รายอยู่ระหว่างศึกษาการขยายการลงทุนสร้างโรงงานไปยังอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม พม่า และกัมพูชา ขณะที่มีผู้ประกอบการไทยค้าขายในอาเซียนอยู่แล้วกว่า 100 ราย

    นางนันทวัลย์ กล่าวว่า สินค้าไทยเป็นที่นิยมและยอมรับในคุณภาพในตลาดต่างประเทศ การเจาะตลาดเพิ่มขึ้นควรนำสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม เพื่อให้ข้อจำกัดด้านต้นทุนและเทคโนโลยีลดลง รวมถึงการสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง เพื่อให้จดจำแบรนด์สินค้า ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะต้องสร้างนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนและสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจเป็นอันดับแรกก่อน อาทิ บริษัท อำพลฟู้ดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด นำเปลือกมะพร้าวที่เหลือใช้จำนวนมากจัดการให้กลายเป็นแหล่งพลังงานให้องค์กรประหยัดได้กว่า 40 ล้านบาทต่อปี

    สำหรับกรมฯมีกลยุทธ์การเจาะตลาดอาเซียนในช่วงไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.57) โดยร่วมกับภาคเอกชนตั้งคณะทำงานบุกเบิกตลาดอาเซียน หลังจากประชุมร่วมกับภาคเอกชนในทุกเดือนได้ข้อสรุปว่าไตรมาส 3 จะจัดกิจกรรมอีก 11 งาน ประกอบด้วย งานไทยแลนด์วีค 5 งาน จัดคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาการค้า4 ครั้งและ ส่งเสริมการขายในร้าน 1 ครั้ง และเอสเอ็มอีโปรแอ็คทีฟ 1 งาน

    นอกจากนี้ ได้แต่งตั้งคณะทำงานบุกเบิกตลาดอาเซียนรวมกับภาคเอกชน ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณายุทธศาสตร์ภูมิภาคและรายประเทศ อุตสาหกรรมเป้าหมายรายประเทศ ซึ่งนอกเหนือจากกิจกรรมที่กรมฯได้กล่าวถึงแล้ว คณะทำงานฯ ยังเพิ่มโครงการเพื่อกระตุ้นการส่งออกอีก ดังนี้ 

    อินโดนีเซีย ขยายช่องทางการตลาดสินค้าอาหารพร้อมรับประทานกับร้านสะดวกซื้อในสิงหาคม 57 ส่งเสริมการขายลำไยร่วมกับซุปเปอร์มาร์เกต/ผู้นำเข้าอินโดนีเซีย ในงานเทศกาลลำไยไทยประมาณก.ค. – ส.ค. 57 จัดคณะผู้แทนการค้าสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์และมอเตอร์ไซค์เยือนไทยเพื่อเจรจาธุรกิจ 16 – 19 ก.ย. 57

    สิงคโปร์ จัดคณะผู้แทนการค้าสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์สิงคโปร์เยือนไทย ในช่วงเดือนกันยายน 57 ฟิลิปปินส์ จัดคณะผู้แทนการค้าสินค้าเครื่องจักรในอุตสาหกรรมและเครื่องจักรในการเกษตรเดินทางมาเจรจาการค้า ช่วงกลางเดือนส.ค. – ก.ย. 57 

    กัมพูชา จัดคณะผู้แทนการค้าเพื่อเจรจาซื้อธุรกิจ แฟรนไชส์ประเภทอาหาร (บีบีคิวพลาซ่า เกรฮาวด์) สินค้าบริการด้านความงาม (นิติพล คลินิก) และสินค้าบริการโรงภาพยนตร์ (บริษัทกันตนา) 

    เวียดนาม การส่งเสริมการลงทุนธุรกิจเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่ม แฟชั่น อาหาร ในประเทศเวียดนาม ในเดือนส.ค.57 

    เมียนมาร์ การส่งเสริมการลงทุนสินค้าอาหารทะเลและสิ่งทอ ในประเทศเมียนมาร์ เดือน ก.ย.57 เป็นต้น

ที่มา : www.thanonline.com

NEWS & TRENDS