​กรมศุลกากรตรวจเข้มสกัดธุรกิจพรีออเดอร์

กรมศุลฯเข้มงวดสกัดพรีออเดอร์ ชี้เดินทางไปต่างประเทศเพียง 1-2 ครั้ง และซื้อสินค้าเข้ามาใช้สอยคงจะไม่สุ่มตรวจ แต่หาก 3-4 ครั้งต่อเดือน เพื่อนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายต้องให้สำแดงเพื่อเสียอากรนำเข้าร้อยละ 30 ของมูลค่าสินค้า



    นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า การตรวจสอบการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและให้ผ่านช่องแดงเพื่อสำแดงสินค้านำเข้านั้น จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดเพื่อปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวกผู้เดินทางไปต่างประเทศ

    หากนำสินค้าเข้ามาเพื่อฝากญาติ ใช้เองปริมาณที่เหมาะสมคงไม่ต้องตรวจ แต่หากเป็นการนำเข้าเชิงพาณิชย์คงต้องเข้มงวดมากขึ้น เพราะสามารถติดตามได้จากแหล่งขายสินค้าตามอินเทอร์เน็ต หรือแหล่งจำหน่ายเมื่อมีการเดินทางเข้าออกเป็นประจำ
       
           ผู้สื่อข่าวรายงานว่าฝ่ายกฎหมายกรมศุลกากรได้หารือเกี่ยวกับการอนุญาตนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อแก้ไขประกาศกรมศุลกากรให้สอดคล้องต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน หลังจากบังคับใช้มาหลายสิบปีแล้ว ด้วยการอนุญาตให้นำสินค้าจากต่างประเทศผ่านเข้าออกผ่านสนามบิน หรือด่านชายแดนจากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 10,000 บาท เพิ่มเป็น 80,000-100,000 บาทต่อครั้ง เพราะเห็นว่าประกาศดังกล่าวใช้มานาน แต่ต้องพิจารณาหลายด้านประกอบกัน เพราะขณะนี้เศรษฐกิจดีขึ้นคนไทยมีกำลังซื้อสินค้าบางส่วน เพื่อใช้เอง หรือฝากญาติ เพื่อให้สอดคล้องต่อประกาศการถือครองเงินสดจาก 500,000 บาท เพิ่มเป็น 2 ล้านบาท ในการนำเข้าออกผ่านชายแดน หากได้ข้อสรุปจะออกประกาศกรมศุลกากรเพื่อบังคับใช้
       
    แต่อีกด้านหนึ่งต้องเข้มงวดสำหรับผู้นำเข้ามาเพื่อค้าขายเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เพราะหากเดินทางไปต่างประเทศเพียง 1-2 ครั้ง และซื้อสินค้าเข้ามาใช้สอยคงจะไม่สุ่มตรวจ แต่หากปรากฏว่ามีการเดินทางเป็นประจำ 3-4 ครั้งต่อเดือน เพื่อนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายต้องให้สำแดงเพื่อเสียอากรนำเข้าร้อยละ 30 ของมูลค่าสินค้า การตรวจจะครอบคลุมไปถึงลูกเรือสายการบิน ทุกอาชีพที่ผ่านเข้าออกที่ผ่านมากรมฯมีข้อมูลของกลุ่มบุคคล (พรีออเดอร์) และเป้าหมายที่จะตรวจกระเป๋าเดินทาง ซึ่งรับรู้ได้ทั้งจำนวนกระเป๋า และหากพบว่ามีการนำเข้าสิ่งของที่เกิดการค้าขายทางเชิงพาณิชย์ก็สั่งให้เจ้าหน้าที่จัดการได้ทันที

    ทั้งนี้ หลังจากนี้คงจะต้องดำเนินการเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะกลุ่มที่ดำเนินการค้าขายทางเชิงพาณิชย์ ที่มีจำนวนมากกว่า 10,000 บาท หรือไปหลักล้านบาท ต้องเข้มงวด และหากมีเจ้าหน้าที่มีส่วนรู้เห็นก็จะดำเนินการเอาผิดทันที แต่การที่จะเสนอให้แก้ไขในส่วนต่าง ๆ นั้น เป็นส่วนนโยบายที่ต้องมีการหารืออีกครั้ง เนื่องจากต้องดูข้อดีและข้อเสียให้รอบครอบ เพื่อไม่ให้เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยจนมากเกินไป เช่น กระเป๋า นาฬิกา เสื้อผ้า เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม งานเร่งด่วนของกรมศุลกากร คือ พยายามจัดเก็บรายได้ให้มากที่สุด เท่าที่มากได้ให้ใกล้เคียง 130,000 ล้านบาทส่วนมาตรการเร่งด่วนอื่น ๆ ต้องสอดรับกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่กรมฯ เป็นส่วนสำคัญการค้าชายแดน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเชื่อมโยง (เนชั่นแนล ซิงเกิล วินโดว์) ที่ต้องให้เกิดขึ้นโดยเร็ว รวมทั้ง การแก้ไขกฎหมายต่าง ที่เป็นอุปสรรคและไม่เป็นธรรมกับภาคเอกชนให้มีความโปร่งใสมากขึ้น เช่น ผู้ประกอบการ ที่เกิดกรกระทำผิดที่เป็นกรณีเล็กกรณีน้อยก็ปรับ 4 เท่า ทั้งตั้งใจหรือไม่ต้องใจ แต่ปรับเท่ากัน โดยมองว่ากรณีดังกล่าวไม่เหมาะสม 

ที่มา : http://www.manager.co.th

NEWS & TRENDS