นายกสมาคมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี "เพ็ญทิพย์" ผลักดัน 3 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือมวลสมาชิกภาคธุรกิจต่อกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อนำเสนอต่อคสช.พิจารณา
นายกสมาคมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี "เพ็ญทิพย์" ผลักดัน 3 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือมวลสมาชิกภาคธุรกิจต่อกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อนำเสนอต่อคสช.พิจารณา
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยภายหลังการประชุมร่วมกับสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อมไทย (ATSME) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อหารือแนวทางการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ว่า นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยได้นำคณะกรรมการบริหารสมาคมเข้ามานำเสนอแนวคิดที่รวบรวมจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศมี 3 ประเด็น คือ 1.การระดมสมองเพื่อนำเสนอมาตรการในการสนับสนุน SMEs เสนอโครงการเร่งด่วนที่ชื่อว่า "SMEs Live Strong" เพื่อสร้างความเข้มแข็งในทุกด้านที่จำเป็น
2.การจัดตั้งสภาเอสเอ็มอี เพื่อเป็นตัวแทนของเอสเอ็มอีรายย่อยในการประสานนโยบายกับภาครัฐ จากที่ปัจจุบันมีรูปแบบเป็นสมาคม และ3.การปรับปรุงหลักสูตรโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ของ กสอ.ที่ใช้มากว่า 30 ปีให้ทันสมัยกับยุคดิจิตอลไอที และให้มีการเชื่อมโยงธุรกิจสร้างสัมพันธภาพระหว่างสมาชิกเก่าและใหม่หลังจบโครงการ
"ในเบื้องต้นนั้นได้มอบให้ กสอ. ประสานกับ สสว. พิจารณาว่า เรื่องใดที่ดำเนินการได้เลย ก็ขอให้เร่งดำเนินการ สำหรับมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีที่ตรงกันก็จะเร่งดำเนินการ โดยแบ่งความรับผิดชอบให้ชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะเป็นเจ้าภาพ ส่วนการจัดตั้งสภาเอสเอ็มอี เพื่อเป็นองค์กรเดียวที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ขอให้เชิญเครือข่ายจาก SMEs ทุกกลุ่มเข้าร่วมหารือกันด้วย โดยจะเร่งสรุปข้อเสนอต่างๆ เพื่อหารือเชิงนโยบายต่อ คสช.ต่อไป" นายวิฑูรย์ พูดทิ้งท้าย
ด้านนางเพ็ญทิพย์ กล่าวว่า สมาคมได้เสนอโครงการ "SMEs Live Strong" เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน รองลงมาคือ การก้าวสู่สากล เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การสร้างความแข็งแกร่งในด้านบริหารจัดการ/การตลาด และการเพิ่มประสิทธิภาพ
ทั้งนี้สิ่งที่สมาคมเสนอขอการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านทางกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันต่อ ได้แก่ 1) กองทุนเพื่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม "รัฐร่วมเอกชน" 2) โครงการเตรียมพร้อมเอสเอ็มอีสู่ตลาดอาเซียน AEC 3) การพัฒนาแรงงานภาคบริการและภาษา 4) โครงการส่งเสริม E-Commerce สำหรับ SMEs 5) โครงการประเมินศักยภาพเพื่อปรับตัวสู่สากล 6) โครงการสร้างนวัตกรรมจากงานวิจัย 7) โครงการพัฒนาฝีมือแรงงานช่างเชื่อมสามจี และ 8) การตั้งจุดกระจายสินค้าเอสเอ็มอีภายในประเทศ ลักษณะเป็น SMEs Plaza หรือ SMEs Center รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแสวงหาโอกาส ขายสินค้าได้ตลอดปี
อนึ่ง สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดไทย เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวของผู้ประกอบการ SMEs มีสมาชิกกว่า 8,000 ราย กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และประสานนโยบายกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ปัจจุบัน นายกสมาคมได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการหลายชุด และ คสช.ก็ให้ความสำคัญ
ที่มา : www.thanonline.com