พาณิชย์เตือนผู้ส่งออก อย่าตื่นข่าวลือ ย้ำชัดสหรัฐแบนนำเข้าสินค้าไทยไม่ได้ ผิดกฏดับเบิลยูทีโอ ขอให้ดำเนินการส่งออกไปตามปกติ พร้อมเตรียมแผนระยะสั้นยาวเร่งแก้ปัญหา
พาณิชย์เตือนผู้ส่งออก อย่าตื่นข่าวลือ ย้ำชัดสหรัฐแบนนำเข้าสินค้าไทยไม่ได้ ผิดกฏดับเบิลยูทีโอ ขอให้ดำเนินการส่งออกไปตามปกติ พร้อมเตรียมแผนระยะสั้นยาวเร่งแก้ปัญหา
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ใน Tier 3 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ของสหรัฐ ขณะนี้มีการแพร่ข่าวลือกันเป็นวงกว้างว่า สหรัฐเตรียมจะใช้มาตรการห้ามนำเข้าสินค้าไทยเร็วๆ นี้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวทำให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในตลาดสหรัฐ ทั้งนี้ จะขอชี้แจงว่าตามกฎหมายของสหรัฐในกรณีนี้สหรัฐอาจทำได้เพียงพิจารณาระงับการให้ความช่วยเหลือที่ไม่ใช่ด้านมนุษยธรรมและด้านที่ไม่เกี่ยวกับการค้าเท่านั้น ซึ่งมาตรการตามกฎหมายสหรัฐดังกล่าวไม่รวมถึงการห้ามนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย
นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า การที่ประเทศใดๆ จะใช้มาตรการห้ามนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ โดยอ้างเหตุที่มาจากเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อคุ้มครองแรงงาน ฯลฯ เป็นเรื่องที่อาจไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ซึ่งไทยและสหรัฐต่างก็เป็นสมาชิกกระทรวงพาณิชย์จึงขอให้ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องอย่าวิตกกังวลกับข่าวลือที่กำลังแพร่สะพัดอยู่ในขณะนี้ และขอให้ดำเนินธุรกิจการส่งออกสินค้าไปสหรัฐและประเทศอื่นๆ ต่อไปตามปกติ
อย่างไรก็ตาม แม้รายงานดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบทางด้านการค้ากับไทย แต่อาจมีผลกระทบด้านจิตวิทยาของผู้บริโภคในเรื่องภาพลักษณ์และสินค้าส่งออกจากไทย โดยประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจและมีแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระยะสั้นและระยะยาว
สำหรับระยะสั้น แต่งตั้งคณะกรรมการด้านการค้าและแรงงาน โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อกำหนดแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทั้งระบบ ซึ่งมีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 รัฐบาลไทยจะมีหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ ชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อเรียกร้องไม่ให้สหรัฐระงับความช่วยเหลือประเทศไทยจากการจัดอันดับไทยใน Tier 3 และในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม จะจัดทีมประเทศไทยเดินทางชี้แจงผู้ที่มีบทบาทสำคัญทั้งภาครัฐและเอกชนในสหรัฐ เช่น National Fisheries Institute (NFI) ซึ่งเป็นสมาพันธ์ผู้นำเข้าสินค้าประมงแห่งสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศคู่ค้ารายใหญ่ในสหภาพยุโรป (อียู) ด้วย เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและสร้างความเชื่อมั่นในการส่งออกสินค้าไทยว่ามี Clean Supply Chain ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ในห่วงโซ่การผลิต
ส่วนระยะยาว การปฏิรูประบบบริหารจัดการแรงงาน โดยจัดระบบแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี GLP และป้องกันความเสี่ยงด้านปัญหาแรงงานที่เชื่อมโยงกับการค้า การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีความเข้มแข็ง โดยปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่มาตรฐานสากล และดำเนินการด้านการตลาดเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าและบริการของไทยว่าไม่มีปัญหาแรงงานและสิ่งแวดล้อม