ธปท.ผ่อน เกณฑ์ตั้งสำรองแบงก์พาณิชย์ เปิดช่องใช้ "ความเสี่ยงจริง" ของแต่ละแห่ง หวังช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กล้าปล่อยกู้ เน้นช่วย "เอสเอ็มอี" ฟากธนาคารประสานเสียงเชียร์ แต่ยังกั๊กขอดูความเสี่ยงลูกค้าเป็นหลัก จับตาดันกำไรแบงก์เพิ่ม
ธปท.ผ่อน เกณฑ์ตั้งสำรองแบงก์พาณิชย์ เปิดช่องใช้ "ความเสี่ยงจริง" ของแต่ละแห่ง หวังช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กล้าปล่อยกู้ เน้นช่วย "เอสเอ็มอี" ฟากธนาคารประสานเสียงเชียร์ แต่ยังกั๊กขอดูความเสี่ยงลูกค้าเป็นหลัก จับตาดันกำไรแบงก์เพิ่ม
นาย ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปีนี้ได้ผ่อนคลายเกณฑ์ธนาคารพาณิชย์ในการคำนวณค่าความเสียหายเมื่อลูกค้าผิด นัดชำระหนี้ ต่อยอดหนี้ (LGD : Loss Given Default) จากเดิมที่ใช้ LGD ที่เป็นค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม จะเปลี่ยนเป็นการใช้ค่า LGD ของแต่ละแบงก์เพื่อสะท้อนความเป็นจริง
สำหรับแบงก์ที่ดีมีความ รัดกุม รอบคอบ มีหลักประกันที่ดีในการให้สินเชื่อ ค่า LGD จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม แต่หลายแบงก์ก็สูงกว่า ดังนั้น ธปท.จึงอนุญาตให้แบงก์ใช้ค่า LGD ของแบงก์ได้
"เรื่องนี้ ธปท.ให้เป็นแนวทางกับแบงก์เพื่อช่วยเรื่องสภาพคล่อง ส่วนค่าธรรมเนียมที่แบงก์เก็บจากเอสเอ็มอี ก็ขอว่าอะไรลดได้ก็น่าจะลด เพื่อลดภาระให้ผู้ประกอบการ รอให้เอสเอ็มอีทำมาค้าขายได้ก่อนค่อยไปคิด เช่น ค่าธรรมเนียมขอใช้สินเชื่อ ค่าปรับจากการไถ่ถอนหนี้เดิมก่อนกำหนด ค่าธรรมเนียมใช้บริการธุรกรรมหน้าเคาน์เตอร์เกิน 5 รายการ เป็นต้น"
เชียร์เกณฑ์ใหม่สะท้อนเสี่ยงจริง
นาย หยกพร ตันติเศวตรัตน์ รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริหารความเสี่ยง ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยสะท้อนหลักความเป็นจริงของการปล่อยสินเชื่อได้ดีกว่า การใช้ค่ากลางเช่นที่ผ่านมา เดิมค่ากลาง LGD อยู่ที่ 50-60% ของมูลค่าสินเชื่อ ปัจจุบันสินเชื่อที่มีหลักประกันรองรับค่า LGD จริง ๆ ของแบงก์ อยู่ที่ประมาณ 38% เท่านั้น
"คลายเกณฑ์ตรงนี้ลงจะทำให้มี กำไรเพิ่มขึ้น ก็คงไม่ได้ประโยชน์กับแบงก์ขนาดนั้น ที่ผ่านมาเข้าใจกันว่า ถ้าปล่อยสินเชื่อคิดดอกเบี้ยสูงจะทำให้มีกำไรมาก ซึ่งเข้าใจผิด เพราะไม่ใช่แค่นำรายได้มาลบกับต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่ต้องบวกโอกาสที่จะเกิดความเสียหายด้วย"
พร้อมยกตัวอย่างว่า การปล่อยกู้ 5 ปีให้แก่ลูกค้า ธนาคารต้องประเมินว่าเป็นลูกค้าประเภทไหน ความเสี่ยง 5 ปีเป็นอย่างไร ถ้าไม่คิดอะไรมากก็ตั้งสำรองไป 1% เท่ากันหมด ซึ่งความจริงแต่ละคนก็มีต้นทุนความเสี่ยงไม่เท่ากัน อาจเป็น 5% ไม่ใช่ 1% เป็นต้น
แบงก์กั๊กปล่อยกู้ตามเสี่ยงลูกค้า
นายจิรัชยุ ติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวยอมรับว่า การผ่อนคลายเกณฑ์ LGD เป็นหนึ่งในเรื่องที่ ธปท.หยิบขึ้นมาหารือกับแบงก์ ขณะที่การช่วยเหลือลูกค้า เชื่อว่าปัจจุบันทุกแบงก์เข้าไปช่วยเหลือตามความเหมาะสมอยู่แล้ว ไม่ใช่ประเด็นว่าการตั้งสำรองมากหรือน้อยเกินไป
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า หาก ธปท.ผ่อนเกณฑ์ LGD ลงเพื่อสะท้อนค่าความเสียหายตามหลักความจริงมากขึ้น ก็จะเป็นผลดีมากต่อภาคธุรกิจ เพราะทำให้ตั้งสำรองของแบงก์ปรับลดลงไป อย่างไรก็ตาม เห็นว่า มาตรการผ่อนปรนเกณฑ์ LGD นั้นถือเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่จะช่วยให้การขยายสินเชื่อเติบโตได้ระดับหนึ่ง
กรุงไทยกล้าปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
สอด คล้องกับนายเวทย์ นุชเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เห็นด้วยหาก ธปท.จะผ่อนคลายเกณฑ์ LGD ลง เพราะทำให้ธนาคารคลายความกังวลการตั้งสำรองลงและกล้าปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยเอสเอ็มอีและสินเชื่อบ้าน
เช่นเดียวกับนาย ชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การตั้งสำรองคงต้องคำนึงเรื่องสภาพเศรษฐกิจและคุณภาพลูกค้าในพอร์ตเข้ามา ประกอบ แม้ ธปท.จะมองว่าสามารถผ่อนปรนลงได้บ้างในฐานะผู้กำกับที่เห็นภาพรวมทั้งหมด แต่ทางปฏิบัติแล้วธนาคารจะผ่อนปรนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละธนาคารเอง เพราะต้องคำนึงถึงเสถียรภาพของธนาคารด้วย
โบรกฯชี้หนุนเอสเอ็มอี-รายย่อย
ด้าน นางอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส กล่าวว่า โดยทฤษฎีมีผลเชิงบวกต่อการตั้งสำรองและกำไรของธนาคารพาณิชย์ แต่ในทางปฏิบัติมองว่าอาจไม่เป็นผลเชิงบวกมากนัก เพราะโดยส่วนใหญ่ธนาคารพาณิชย์จะตั้งสำรองสูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนดอยู่แล้ว ระยะสั้นอาจจะส่งผลดีต่อการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาค่อนข้างมาก ในขณะนี้ ทั้งลูกค้าเอสเอ็มอีและรายย่อย
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี กล่าวว่า การผ่อนปรนเกณฑ์ดังกล่าวถือเป็นข่าวดีสำหรับธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ เพราะวิธีคำนวณการตั้งสำรองจะแตกต่างจากสินเชื่อทั่วไป หากลด LGD ลง ตามทฤษฎีน่าจะทำให้การตั้งสำรองปรับลดลง อย่างไรก็ตาม การปรับเกณฑ์ LGD เป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง แต่ปัจจัยหลักจะขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและปริมาณหนี้เสีย
สำหรับ ข้อมูลสถิติครึ่งแรกของปี 2557 คาดการณ์ทั้งระบบแบงก์ (ยกเว้นกรุงศรี อยุธยา) ตั้งสำรองประมาณ 32,800 ล้านบาท ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะปีก่อนมีกำไรพิเศษจากการขายบริษัทลูกของธนชาตทำให้มีการตั้งสำรองพิเศษ เพิ่มขึ้น ส่วนทั้งปีคาดการณ์ตั้งสำรองลดลง 8% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 66,000 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิทั้งปีคาดการณ์เติบโต 4% หรือคิดเป็นมูลค่า 2.08 แสนล้านบาท
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ