บีโอไอจับมือ “นิเคอิ” สื่อชั้นนำญี่ปุ่น เปิดเวทีสัมมนาด้านธุรกิจครั้งสำคัญ โดยญี่ปุ่นเล็งขยายการลงทุนในไทยด้วยสูตรใหม่ “ไทยแลนด์ บวก 1” ขยายฐานการผลิตชิ้นส่วนไปประเทศเพื่อนบ้าน แก้ปัญหาไทยขาดแคลนแรงงาน ด้านทูตฯ ญี่ปุ่นเชื่อมั่นหลัง คสช.ให้ความสำคัญนโยบายเศรษฐกิจ
บีโอไอจับมือ “นิเคอิ” สื่อชั้นนำญี่ปุ่น เปิดเวทีสัมมนาด้านธุรกิจครั้งสำคัญ โดยญี่ปุ่นเล็งขยายการลงทุนในไทยด้วยสูตรใหม่ “ไทยแลนด์ บวก 1” ขยายฐานการผลิตชิ้นส่วนไปประเทศเพื่อนบ้าน แก้ปัญหาไทยขาดแคลนแรงงาน ด้านทูตฯ ญี่ปุ่นเชื่อมั่นหลัง คสช.ให้ความสำคัญนโยบายเศรษฐกิจ
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยในงานสัมมนา “Thailand+1 Strategy and Opportunities for Japanese Companies” จัดโดยบีโอไอและนิตยสาร นิเคอิ บิสสิเนส ซึ่งเป็นสื่อด้านธุรกิจที่มีชื่อเสียงของประเทศญี่ปุ่น ณ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี ว่า ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้ผ่านพ้นสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองแล้ว บรรยากาศการลงทุนของไทย ก็กลับคืนสู่ปกติ และกลับมาเป็นแหล่งน่าลงทุนในสายตานักลงทุนต่างชาติอีกครั้ง รวมทั้งได้เร่งรัดการดำเนินงานอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแก่โครงการที่คั่งค้างการพิจารณาจำนวนมากโดยมีเป้าหมายในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้
“ประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของอุตสาหกรรมหลักและอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งเมื่อสถานการณ์ในประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ก็ทำให้ นักลงทุนหันมาให้ความสนใจประเทศไทยเหมือนเดิม โดยผลการสำรวจความเห็นผู้บริหารของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยของสำนักข่าวนิเคอิ ที่มีบทสรุปว่า ผู้บริหารสัดส่วนมากถึง 84.7%ไม่มีแผนจะทบทวนยุทธศาสตร์การทำธุรกิจในประเทศไทย ภายหลังจากที่ได้รับการยืนยันถึงนโยบายทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมการลงทุนจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” นายอุดมกล่าว
ด้านนายคิมิโนริ อิวามะ (Mr. Kininori Iwama) อัครราชทูตฝ่ายศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย และคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้เห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่น นักลงทุนต่างประเทศเริ่มกลับมาให้ความสนใจการลงทุนในประเทศไทยอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เป็นข้อกังวลของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย คือ อัตราค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงทำให้เกิดแนวคิดของกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ที่มีชื่อว่า "Thailand + 1"
ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย ขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แล้วสร้างความเชื่อมโยงด้านห่วงโซ่การผลิต (supply chain) ร่วมกับฐานการผลิตหลักในไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจของไทยและญี่ปุ่น รวมไปถึงการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศอาเซียน
ด้านเลขาธิการบีโอไอ กล่าวถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ “Thailand + 1” ว่า นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ และมีการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง ทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงในหลายอุตสาหกรรม และหากสามารถขยายเครือข่ายการผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ จะทำให้เรายิ่งมีห่วงโซ่การผลิตที่เข้มแข็งในอนาคต
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะต้องดำเนินการเพื่อปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนของประเทศให้ดียิ่งขึ้น หน่วยราชการต่างๆ พิจารณาทบทวนกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น รวมถึงต้องเร่งขจัดปัญหาความล่าช้าและความยุ่งยากในการพิจารณาอนุญาตในด้านต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย
สำหรับการลงทุนจากญี่ปุ่นในประเทศไทย ช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2557) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้วทั้งสิ้น 194 โครงการ เงินลงทุนรวม 80,492 ล้านบาท โดยการลงทุนกระจายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ กิจการประเภทผลิตภัณฑ์โลหะ ลงทุนทั้งสิ้น 68,324.4 ล้านบาท รองมาเป็น กิจการประเภทอุตสาหกรรมเบาลงทุน 4,383.8 ล้านบาท กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าลงทุนทั้งสิ้น 3,064.7 ล้านบาท กิจการกลุ่มเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก ลงทุนทั้งสิ้น 2,065.6 ล้านบาท และกิจการบริการและสาธารณูปโภค ลงทุนทั้งสิ้น 1,801.6 ล้านบาท
ที่มา : www.thanonline.com