​กรมการค้าต่างประเทศจัดทัพเครื่องนุ่มห่มเยือนเมียนมาร์

กรมการค้าต่างประเทศ จัดทัพธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม-รองเท้าเยือนเมียนมาร์ หาช่องทางขยายการค้า-ลงทุนรับเออีซี



กรมการค้าต่างประเทศ จัดทัพธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม-รองเท้าเยือนเมียนมาร์ หาช่องทางขยายการค้า-ลงทุนรับเออีซี

    รายงานข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศ แจ้งว่า กรมฯ จะนำคณะผู้แทนการค้าการลงทุนไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เดินทางไปเยือนกรุงย่างกุ้งและเมืองพะโค เมียนมาร์ระหว่างวันที่ 21-23 ก.ค. นี้ เพื่อพบปะทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของเมียนมาร์ในการหาโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย รองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

    ทั้งนี้ คณะจะพบปะกับเจ้าหน้าที่ BOI ของพม่า รับฟังแนวทางการขอรับการส่งเสริมการลงทุน พบเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมเมืองพะโค รับฟังแนวทางการลงทุนจัดตั้งโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งเยี่ยมชมโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อหาช่องทางในการย้ายฐานการผลิตให้กับผู้ประกอบการไทย โดยการใช้ประโยชน์จาก AEC ในการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มโอกาสในการบุกเจาะตลาดเมียนมาร์

    ขณะเดียวกัน กรมฯ ยังได้จัดงาน Thailand-Myanmar Business Networking เพื่อให้มีการเจรจาสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการเมียนมาร์ในการสร้างความร่วมมือทำการค้าระหว่างกันด้วย

    รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ขณะนี้กรมฯ ได้มีการปรับปรุงระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งได้ปรับปรุงระบบและปรับเปลี่ยนแบบพิมพ์หนังสือรับรองตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน และอาเซียน-เกาหลีใหม่ โดยได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2557 ที่ผ่านมา

    โดยการปรับเปลี่ยน Form D ได้มีการมีการแก้ไขข้อความในช่อง 9 จาก Gross weight or other quantity and value (FOB) เป็น Gross weight or other quantity and value (FOB) where RVC is applied ซึ่งการแก้ไขดังกล่าว จะมีผลในทางปฏิบัติทำให้ไม่ต้องแสดงมูลค่า FOB ในช่อง 9 ยกเว้นในกรณีที่สินค้าส่งออกใช้เกณฑ์การพิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้า แบบการคำนวณสัดส่วนมูลค่าการผลิตภายในประเทศภาคี (RVC) และยังได้เปลี่ยนพิกัดศุลกากรในส่วนของกฎเฉพาะรายสินค้าของปี 2550 (HS code 2007) เป็นปี 2555 (HS code 2012) ด้วย

    ทั้งนี้ ยกเว้นประเทศเมียนมาร์และกัมพูชา ยังคงใช้ระเบียบปฏิบัติเดิม ที่จะต้องระบุมูลค่า FOB ในหนังสือรับรองทุกกรณี เนื่องจากทั้งสองประเทศได้ขอเวลาในการปรับเปลี่ยนระเบียบปฏิบัติภายในประเทศเป็นเวลา 2 ปี

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

NEWS & TRENDS