​เร่งยกระดับ OTOP สิ่งทอพร้อมก้าวสู่ AEC

กสอ.จับมือสถาบันฯสิ่งทอเร่งยกระดับคุณภาพ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายทั่วประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ AEC ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการมากกว่า 200 รายพร้อมให้สามารถก้าวสู่ตลาดสากลไม่น้อยกว่า 150 ผลิตภัณฑ์



กสอ.จับมือสถาบันฯสิ่งทอเร่งยกระดับคุณภาพ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายทั่วประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ AEC  ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการมากกว่า 200 รายพร้อมให้สามารถก้าวสู่ตลาดสากลไม่น้อยกว่า 150 ผลิตภัณฑ์  

    ดร. อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย เป็นผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและความเป็นอยู่ของท้องถิ่น ซึ่งในประเทศไทยมีมากกว่า 17,000 ผลิตภัณฑ์ แต่มีเพียงแค่ 1 ใน 10 หรือกว่า 1,000 ผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่จัดอยู่ในระดับ A จึงจำเป็นต้องให้การส่งเสริมและพัฒนาเพื่อให้โอท็อปไทยโดดเด่นในระดับนานาชาติ

        ดังนั้น กสอ.ในฐานะหน่วยงานรัฐที่ให้การส่งเสริม สนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อปสู่สากลและเพิ่มมูลค่าสินค้าโอท็อปด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา (High Value OTOP Based On Rich Culture and Local Wisdom) จึงร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดทำ "โครงการพัฒนามาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายโอท็อปตลอดกระบวนการผลิตและทดสอบตลาดจากการพัฒนา" ภายใต้ "โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายก้าวสู่สากล"  เพื่อยกระดับผู้ประกอบการโอท็อปประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายทั่วประเทศ ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อปให้ได้คุณภาพมาตรฐานสอดคล้องตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย
    โดยใช้นวัตกรรมต่างๆเพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในตลาดในประเทศและต่างประเทศ  รวมถึงการเปิดการค้าเสรีอาเซียน  ซึ่งจะทำให้ตลาดสิ่งทอของไทยกว้างมากขึ้น มีการซื้อขายสินค้าสิ่งทอที่เป็นสินค้าพื้นบ้านระหว่างในกลุ่มอาเซียนด้วยกันมากขึ้น ทั้งนี้ได้นำร่องพัฒนาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายโอท็อปที่ จ.นครราชสีมา เป็นแห่งแรกและตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการมากกว่า 200 ราย โดยจะขยายผลสู่ภูมิภาคอื่นๆต่อไป

    ด้านนางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า สำหรับ  " โครงการพัฒนามาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายโอท็อป ตลอดกระบวนการผลิตและทดสอบตลาด"  สถาบันได้วางแผนการดำเนินงานลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูล วิธีการผลิต วัตถุดิบ เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการต้องการส่งออก จากนั้นจึงนำกลับมาทดสอบตามมาตรฐานสากล หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ตรงตามมาตรฐาน จะมีการส่งทีมที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อวิเคราะห์ปัญหาพร้อมให้คำแนะนำ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามสากล

        "ที่ผ่านมาปัญหาส่วนใหญ่คือ ผู้ประกอบการเลือกใช้วัตถุดิบให้สีหรือสีย้อมที่ไม่ได้คุณภาพ  มีสารตกค้างต่าง ๆ  รวมทั้งกระบวนการย้อมที่ไม่คงที่ ส่งผลให้ผ้าที่ได้เกิดตกสี ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถก้าวถึงตลาดต่างประเทศได้" 
 
        นอกจากนี้โครงการยังมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่ง ห่ม  โดยดำเนินการเข้าถึงในภูมิภาค  ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคกลาง  ภาคเหนือ  พื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา เชียงใหม่ อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ สำหรับเนื้อหาในการสัมมนานั้นเน้นการให้ความรู้ตลอดกระบวนการผลิต

        "คาดว่าเมื่อดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อปอย่างเต็มรูปแบบแล้วจะสามารถยกระดับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์โอท็อปประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล  โดยสถาบันฯสิ่งทอจะทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการ ผลิตและทดสอบตลาด อาทิ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการย้อมสีธรรมชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจให้มากที่สุด ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ซึ่งนำไปสู่การส่งออกในตลาดต่างประเทศและในอาเซียน โดยตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพออกสู่ตลาดสากลได้ ไม่น้อยกว่า 150 ผลิตภัณฑ์ " นางสุทธินีย์กล่าว

NEWS & TRENDS