กรมพัฒน์ฯ สนธิกำลัง 3 ฝ่าย สร้างภูมิคุ้มกัน SMEs ไทย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สร้างภูมิคุ้มกัน SMEs ไทย สนธิกำลัง 3 ฝ่าย รัฐ ธุรกิจ และการศึกษา ผุด 2 หลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการ หวังใช้ SMEs ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศระยะยาว เตรียม! แผนเดินหน้าผลักดันธุรกิจรายย่อย ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน พร้อมแข่งขันในตลาดการค้าการลงทุนขนาดใหญ่อย..



    กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สร้างภูมิคุ้มกัน SMEs ไทย สนธิกำลัง 3 ฝ่าย รัฐ ธุรกิจ และการศึกษา ผุด 2 หลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการ หวังใช้ SMEs ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศระยะยาว เตรียม! แผนเดินหน้าผลักดันธุรกิจรายย่อย ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน พร้อมแข่งขันในตลาดการค้าการลงทุนขนาดใหญ่อย่าง AEC รองรับผู้บริโภค 600 ล้านคน

    นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบโล่ และวุฒิบัตรในงาน “เผยแพร่นักธุรกิจมืออาชีพพร้อมรับ AEC” ว่า กรมฯ ให้ความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย (SMEs) มาโดยตลอด เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  กรมฯ จึงได้สนธิกำลัง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา ร่วมกันจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยอย่างครบวงจร ทั้งด้านมาตรฐานทางธุรกิจ กลยุทธ์ทางการตลาด การสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันเพื่อขยายโอกาสทางการตลาด รวมทั้งการยกระดับผู้ประกอบธุรกิจสู่การเป็นนักธุรกิจมืออาชีพ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจ SMEs ของไทยเป็นกลไกหลักที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตในระยะยาว

    พร้อมกันนี้ กรมฯ ได้มีการเตรียมจัดทำแผนผลักดันธุรกิจ SMEs ไทยให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมแก่ภาคธุรกิจสำหรับการแข่งขันในตลาดการค้าการลงทุนขนาดใหญ่อย่าง AEC ที่จะรวมเป็นตลาดเดียวในปี 2558 รองรับผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนกว่า 600 ล้านคน ซึ่งหากผู้ประกอบการ SMEs ของไทยมีการเตรียมความพร้อมที่ดีในทุกๆ ด้านรองรับตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการของไทยย่อมได้เปรียบทางการแข่งขันและมีโอกาสที่จะเป็นผู้นำด้านการค้าการลงทุนในระดับภูมิภาคอาเซียน

    ทั้งนี้ หลักสูตรเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ให้มีความเข้มแข็งแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล พร้อมรองรับตลาด AEC ประกอบด้วย 2 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตร “สร้างนักธุรกิจมืออาชีพ : Smart Professional Entrepreneurs (DBD-SPE)” เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจให้ประสบความสำเร็จตามหลัก Balance Score Card และมีความเป็นมืออาชีพด้านการบริหารจัดการธุรกิจ 2) หลักสูตร “พัฒนาศักยภาพนักธุรกิจพร้อมรองรับ AEC : Advance Professional Entrepreneurs (DBD-APE)” เป็นหลักสูตรพัฒนาต่อยอดผู้ประกอบธุรกิจให้สามารถก้าวสู่การเป็นนักธุรกิจในระดับสากล” โดยทั้ง 2 หลักสูตร จะเน้นการเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจเพื่อเพิ่มทักษะวิธีคิดการเป็นนักธุรกิจมืออาชีพ การค้นหาโอกาสทางการตลาด และสร้างแนวโน้มของตลาด ผ่านการเรียนรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบธุรกิจที่มีประสบการณ์รวมทั้งการศึกษาดูงานธุรกิจต้นแบบทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

    มีผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ผ่านการพัฒนาฯ ทั้ง 2 หลักสูตร จำนวน 71 ราย แบ่งเป็นหลักสูตรสร้างนักธุรกิจมืออาชีพ จำนวน 51 ราย และหลักสูตรพัฒนาศักยภาพนักธุรกิจพร้อมรองรับ AEC จำนวน 20 ราย โดยทั้ง 2 หลักสูตรได้มีการคัดเลือกนักธุรกิจ SMEs ผู้เป็นต้นแบบที่ดี (Best Practice) จำนวน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับดีเด่น ดีมาก และ ดี เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการธุรกิจแก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs รุ่นต่อๆ ไป

    ธุรกิจ SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งจ้างงานและการส่งออกที่สำคัญ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไทย ประมาณ 2.74 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 98.5 ของผู้ประกอบการทั้งหมด เกิดการจ้างงาน 11.7 ล้านราย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยมูลค่า GDP    ของ SMEs ในปี 2555 คิดเป็นร้อยละ 37 ของ GDP ทั้งประเทศ

    ทั้งนี้ ในระดับภูมิภาคอาเซียน มีธุรกิจ SMEs จำนวนทั้งสิ้นคิดเป็นร้อยละ 96 ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ประมาณ ร้อยละ 42 ของมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมร้อยละ 25 ของมูลค่าการส่งออกทั้งภูมิภาค และมีการจ้างงานถึงร้อยละ 73 ของการจ้างงานทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจ

    หากพิจารณาจากสัดส่วนของจำนวนธุรกิจ SMEs ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน พบว่า ประเทศอินโดนีเซียมีจำนวน SMEs สูงสุด ร้อยละ 196.9 รองลงมาคือ ประเทศไทย ร้อยละ 43.94 สิงคโปร์ ร้อยละ 35.15 บรูไน ร้อยละ 23.99 และมาเลเซีย ร้อยละ 22.89

 

NEWS & TRENDS