​กสอ. จับมือ สถาบันสิ่งทอฯ ต่อยอด โมเดิร์น ไทย ซิลค์

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม ชูเป้าหมายผลักดันอุตสาหกรรมไหมไทยสู่ศูนย์กลางผ้าไหมยุคใหม่ของตลาดโลก ผ่านการสานต่อโครงการ “โมเดิร์น ไทยซิลค์”



    กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม  ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม  ชูเป้าหมายผลักดันอุตสาหกรรมไหมไทยสู่ศูนย์กลางผ้าไหมยุคใหม่ของตลาดโลก ผ่านการสานต่อโครงการ “โมเดิร์น ไทยซิลค์” 

    นางศิริรัตน์ จิตต์เสรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ. มีนโยบายในการผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นในประเทศไทยให้มีศักยภาพในฐานะเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก ในทุกอุตสาหกรรมเกี่ยวโยงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งนี้ หนึ่งสินค้าที่มีความสำคัญต่ออุตหกรรมแฟชั่นที่มีภูมิหลังและภูมิปัญญากับประเทศไทยมายาวนาน ได้แก่ อุตสาหกรรมไหม ซึ่งเป็นสินค้าที่มีโอกาสทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

    ดังนั้น กสอ. จึงเล็งเห็นถึงศักยภาพผ้าไหม  ตลอดจนโอกาสในการสร้างสรรค์องค์ความรู้รูปแบบใหม่ที่ทันสมัย และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์เพื่อการต่อยอดด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าไหมให้เติบโตและมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ จึงได้ร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ต่อยอด โครงการการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัยสู่สากล (Modern Thai Silk) ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย โดยมีแนวทางการดำเนินงาน คือ

    1. สร้างมูลค่าเพิ่มของไหมไทยด้วยอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ผ่านการ วิจัยอัตลักษณ์ไหมไทย สร้างความเข้าใจ การรับรู้ การยอมรับในคุณสมบัติของไหมไทยแก่นักออกแบบไทยและสากล รวมทั้ง วิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคและการรับรู้คุณสมบัติไหมไทยของผู้บริโภคไทย เพื่อสร้างแนวทางในการประชาสัมพันธ์ จุดขายทางการตลาด สู้เป้าหมายการสร้างความนิยมในผ้าไหมไทยแก่กลุ่มชาวไทย และชาวต่างชาติ ทั้งที่เป็นผู้บริโภคโดยตรงกับกลุ่มนักออกแบบ
                
    2. จัดทำคู่มือแนวโน้มการออกแบบไหมไทยร่วมสมัย (Modern Thai Silk Design Brief)   ซึ่งเนื้อหาภายในเล่มจะบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ไหมไทย แนวทาง กระบวนการและข้อจำกัดของออกแบบ รวมทั้งคุณสมบัติที่สำคัญของไหมไทย

    3. กำหนดเทรนด์การผลิตผ้าไหมไทยให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือนักออกแบบผ้าไหมสร้างสรรค์ผ้าไหมให้สอดคล้องกับเทรนด์แฟชั่น โดยมุ่งเน้น Autumn/Winter 2015/2016 และ Spring Summer 2016

    สำหรับโครงการ “โมเดิร์น ไทย ซิลค์” เป็นโครงการกิจกรรมศึกษาวิจัยและพัฒนาต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ และสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ/ผู้ผลิตให้เข้าใจถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ โดยตั้งเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลง ภาพลักษณ์ รูปแบบ คุณภาพ ผ้าไหมไทย สู่การเป็นผ้าที่ใช้สวมใส่ได้ทุกโอกาส 

    โดยภาพรวมในการพัฒนาอุตสาหกรรมไหมไทยนั้น จะสะท้อนออกมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าหลักๆ 3 กลุ่ม ได้แก่ ทั้งนี้ กลุ่มที่ 1  เคหะสิ่งทอ (Home textiles) ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้เป็นสิ่งทอที่ใช้เป็นส่วนประกอบผ้าที่ใช้ในการตกแต่งภายในและคลุมหรือปูพื้น โดยนิยมใช้ทั้งการตกแต่งอาคารบ้านเรือนทั่วไป  กลุ่มที่ 2 เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสำหรับชายและหญิง (Men and Women Clothing) เช่น เสื้อสูทบุรุษและสตรี เสื้อ กระโปรง กางกาง เป็นต้น กลุ่มที่ 3 สิ่งทอประดับและตกแต่ง (Accessories) เช่น ผ้าพันคอ กระเป๋า เป็นต้น

    ด้านนางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ  กล่าวว่า สถาบันฯ ได้ร่วมมือกับ กสอ. สร้างการรับรู้และความนิยมของผ้าไหมในระดับสากลและคาดหวังให้ผ้าไหมไทยเป็นองค์ประกอบในการสร้างสรรค์ผลงานแฟชั่นของดีไซเนอร์ระดับโลก ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้นำผ้าไหมไทย ต้นแบบกว่า 50 ชิ้น ไปร่วมโชว์ ณ มหานครปารีส ในงาน “Premiere  Vision 2014“  ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งทอและผ้าผืนระดับโลก ที่รวบรวมดีไซเนอร์จากแบรนด์แฟชั่นชั้นนำระดับโลกจำนวนมาก อาทิ กุชชี่  หลุยส์ วิตตอง  ชาแนล เบอร์เบอรี่ (Burberry) เฟนดิ (Fendi)  คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) ปราด้า (Prada) คริสเตียน ลูบูติน  (Christian louboutin) เวอซาเช่ (Versace) และ เฮอร์เมส (Hermes) เป็นต้น

     ทั้งนี้ การเข้าร่วมงานดังกล่าวจะเป็นใบเบิกทางอันดีให้กับผ้าไหมไทยซึ่งคาดว่า ในคอลเล็กชั่น 2559-2560 คนไทยคงจะได้เห็นผ้าไหมไทยเป็นสินค้น “โอต์ กูตูร์” หรือสินค้าระดับสูงที่แบรนด์เนมทั่วโลกเลือกใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิต      

NEWS & TRENDS