กรอ.ไฟเขียวนโยบายกระตุ้นการค้า-การลงทุน

กรอ.ไฟเขียวนโยบายกระตุ้นการค้า-การลงทุน เดินหน้าตั้งศูนย์'พลาสติกชีวภาพ-ทดสอบยางล้อ' ตั้งเป้าศูนย์กลางภูมิภาค



กรอ.ไฟเขียวนโยบายกระตุ้นการค้า-การลงทุน เดินหน้าตั้งศูนย์'พลาสติกชีวภาพ-ทดสอบยางล้อ' ตั้งเป้าศูนย์กลางภูมิภาค

    ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกกับภาคธุรกิจ หลังจากได้รับการเสนอชื่อจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29

    การประชุมในครั้งนี้ ถือว่าได้เห็นชอบมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเป็นไปตามแนวนโยบายเศรษฐกิจที่เคยประกาศไว้ ในเรื่องการสนับสนุนอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีและลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวเพื่อไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เนื่องจากรัฐบาลจะไม่มีนโยบายอุดหนุนราคา

    นายอาคม เติมพิทยไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าการประชุมกรอ. ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เสนอมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยติดตามความคืบหน้ามาตรการเร่งด่วนเพื่อผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน โดยเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาการหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 200% เพื่อจูงใจให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีนี้เข้ามาลงทุน และวิจัยอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย

    ที่ประชุมฯมอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมไปหารือในรายละเอียดเพื่อกำหนดแนวทางในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมนี้และนำมาเสนอให้ที่ประชุม กรอ.พิจารณาในครั้งต่อไป

    “การให้สิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้การส่งเสริมตามยุทธศาสตร์ใหม่ และเป็นการแข่งขันกับประเทศมาเลเซียในการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและศูนย์กลางการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต โดยประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในเรื่องของวัตถุดิบ คือ มีพืชทั้งอ้อยและมันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก และการลงทุนในสาขาพลาสติกชีวภาพยังเป็นการต่อยอดจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศเราได้” นายอาคมกล่าว


    นอกจากนี้ภาคเอกชนได้มีการเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบกลางเพื่อทดสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางล้อขึ้นในประเทศไทย เพื่อพัฒนาการผลิตยางรถยนต์ในประเทศ โดยเบื้องต้นจะใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท

    นายอาคม กล่าวว่าที่ประชุมฯเห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือในรายละเอียดให้ชัดเจนโดยเฉพาะรูปแบบในการลงทุน การจัดหาที่ดินและพื้นที่ดำเนินการ โดยในเบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์ได้เสนอให้ใช้พื้นที่ในเขตทหาร ซึ่งมีพื้นที่เพียงพอในการจัดตั้งศูนย์แต่ต้องดูความเหมาะสมว่าจะเป็นพื้นที่ใด
หนุนเกษตรกรปลูกอ้อย6.7ล้านไร่

    ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่าสภาหอการค้าฯได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้ที่ประชุมฯพิจารณา โดยมีสาระสำคัญคือการสนับสนุนให้มีการปลูกอ้อยเพิ่มเติมอีก 6.7 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรโดยสนับสนุนให้ปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ให้มากขึ้นโดยเพิ่มรายได้เกษตรกรจากเฉลี่ย 300,000 บาท/ปี เป็น 400,000 บาท/ปี

    นอกจากนั้นจะช่วยเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจาก 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็น 1 แสนล้านบาทต่อปี

    ทั้งนี้ที่ประชุมฯมอบหมายให้นำข้อเสนอนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประธานเพื่อหารือกันในแนวทางปฏิบัติในข้อเสนอดังกล่าวต่อไป

    ทั้งนี้ นายอิสระ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอเรื่องการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนที่สภาหอการค้าฯเสนอได้แก่ การเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขอยกระดับด่านชายแดนจากจุดผ่อนปรนชั่วคราวให้เป็นด่านถาวร เช่น จุดผ่อนปรนเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี ด่านห้วยโกร๋น จ.น่าน ด่านภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ ด่านท่าลี่ จ.เลย จุดผ่อนปรนห้วยต้นนุ่น จ.แม่ฮ่องสอน เป็นต้น

    นอกจากนี้ได้ขอให้ สศช.และกระทรวงการต่างประเทศ ประสานงานกับทางการกัมพูชา เพื่อประสานงานการเปิดเจรจาทวิภาคีเพื่อของเพิ่มโควตาการเดินรถตามกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงระหว่างไทย - กัมพูชา จาก 40 เป็น 500 คัน รวมทั้งเจรจาผ่อนปรนการขอรับการลงตราวีซ่าระหว่างไทยกับพม่าในบางพื้นที่โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและเศรษฐกิจ

    ส่วนนางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) กล่าวว่า ที่ประชุมฯเห็นชอบตามที่ สทท.เสนอ. 2 ประเด็น โดยประเด็นแรก สทท.เสนอให้นำค่าใช้จ่ายจากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ มาหักลดหย่อนภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ 20,000 บาท ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายกระทรวงกระทรวงการคลังไปพิจารณาและกำหนดค่าใช้จ่ายที่จะนำมาลดหย่อนภาษีโดยเร็ว

    กรอ.ยังมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งรัดนำเสนอร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการนำอาคารประเภทอื่นมาใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ..เพื่อจัดระเบียบโรงแรมให้ถูกกฎหมาย

    ประเด็นที่สองเป็นมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบการประชุมสัมมนานานาชาติและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล(ไมซ์) และแก้ปัญหาวีซ่าทุกประเภท ทั้งระบบ

    นอกจากนี้ สทท.เสนอแนวคิดให้วางแผนและตั้งเป้ากำหนดรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศที่ 4 ล้านล้านบาทในปี 2561 ซึ่งที่ประชุมมีเห็นด้วย เนื่องจากมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอ 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


NEWS & TRENDS