​อุตฯเตรียมทำมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่ม 44 สาขายกระดับสู่สากล

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน จัดสัมมนา "พัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน" เพื่อร่วมพัฒนายกระดับแรงงาน และเตรียมความพร้อมแรงงานเข้าสู่การเปิดเสรีภายใต้กรอบเออีซี



    สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน จัดสัมมนา "พัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน" เพื่อร่วมพัฒนายกระดับแรงงาน และเตรียมความพร้อมแรงงานเข้าสู่การเปิดเสรีภายใต้กรอบเออีซี

    นายสมพงศ์ นครศรี รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 11 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ร่วมกันดำเนินการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 2554 - 2555 สามารถจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และวิธีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ได้จำนวน 44 สาขาอาชีพ และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

    รองประธานอาวุโส ส.อ.ท. กล่าวว่า ถือเป็นมิติใหม่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ได้พัฒนากระบวนการในการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานชาติจนเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ สอดคล้องกับการจ้างงานจริง มีการนำไปใช้ในการทดสอบรับรองพนักงาน และจ่ายค่าตอบแทนตามมาตรฐาน" นายสมพงศ์ กล่าว

    "จากความร่วมมือดังกล่าวก็จะจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเพิ่มอีก 44 สาขาอาชีพ ซึ่งจะได้นำเสนอร่างมาตรฐานดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง" นายสมพงศ์ กล่าว

    สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มอีก 44 สาขาอาชีพนั้น อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหการ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก

    กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น และกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

    นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และส.อ.ท.ได้หารือถึงแผนงานและแนวทางในอนาคตไว้แล้วว่า จะต้องขยายผลและดำเนินการไปจนครบทุกอุตสาหกรรม รวมถึงการยกร่างมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการนำมาตรฐานไปใช้ในการฝึกอบรม ทดสอบและรับรองฝีมือแรงงาน ทั้งแรงงานเข้าใหม่ และแรงงานในสถานประกอบการ รวมทั้งใช้เป็นกรอบในการพัฒนาเส้นทางอาชีพ และกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานต่อไป

    ด้าน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นกลยุทธ์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความยั่งยืน ส่วนผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้กำหนดกรอบคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    อนึ่ง กระทรวงแรงงานมีหน้าที่บริหารจัดการแรงงานซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไปสู่ระดับโลก โดยดำเนินการผ่านระบบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานและค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ ซึ่งมีแนวทางดำเนินการดังนี้

    1.พัฒนาและขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานและผู้ประกอบกิจการด้วยระบบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยใช้หลักการประเมินที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบการศึกษา ระบบการบริหารค่าจ้าง ค่าตอบแทน

    2.สร้างความร่วมมือและพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับระบบการศึกษาและการพัฒนาแรงงาน เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการพัฒนาฝีมือแรงงาน

    และ 3.พัฒนาศักยภาพแรงงานและสถานประกอบกิจการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการไทยรองรับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับต่างประเทศ เช่น เสริมทักษะด้านภาษา คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

ที่มา : www.bangkokbiznews.com

NEWS & TRENDS