​บก.ปอศ.จับอีกบริษัทใช้ซอฟแวร์เถื่อนมูลค่าเฉียดล้าน

บริษัทก่อสร้างซึ่งมีผู้ลงทุนสัญชาติอเมริกันถูกเข้าตรวจค้นในข้อหาใช้ซอฟต์แวร์ไม่มีไลเซ้นต์มูลค่าเกือบ 1 ล้านบาทในการดำเนินธุรกิจ การเข้าตรวจค้นครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการกวาดล้างการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ



    บริษัทก่อสร้างซึ่งมีผู้ลงทุนสัญชาติอเมริกันถูกเข้าตรวจค้นในข้อหาใช้ซอฟต์แวร์ไม่มีไลเซ้นต์มูลค่าเกือบ 1 ล้านบาทในการดำเนินธุรกิจ  การเข้าตรวจค้นครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการกวาดล้างการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

    บริษัทดังกล่าวถูกพบว่าใช้ซอฟต์แวร์ไม่มีไลเซ้นต์ของออโต้เดสก์ ทำงานสำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในประเทศไทย  เจ้าหน้าที่ตำรวจพบเครื่องคอมพิวเตอร์ 4 เครื่องติดตั้งซอฟต์แวร์ไม่มีไลเซ้นต์ของออโต้เดสก์คิดเป็นมูลค่าเชิงพาณิชย์ราว 756,000 บาท  ทั้งนี้บริษัทมีรายได้ต่อปีมากกว่า 100 ล้านบาท แต่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในการทำธุรกิจ ออกแบบและก่อสร้างโครงการพาณิชย์และที่พักอาศัยหลายแห่ง รวมถึงโรงงานและคลังสินค้าด้วย 

    ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจกว่า 100 บริษัท ในข้อหาใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย

    “การใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ้นต์ในการทำธุรกิจเป็นสัญญาณบอกถึงความไม่โปร่งใสและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ไร้ประสิทธิภาพ  หากผู้รับเหมาหรือผู้พัฒนาโครงการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ้นต์ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนเหล่านั้นจะไม่ใช้สินค้าหรือส่วนประกอบอื่นที่เป็นของปลอมในการก่อสร้างอาคาร และผู้พักอาศัยจะปลอดภัยได้อย่างไรหากต้องอยู่ในอาคารเหล่านั้น” พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าว

    การใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายถูกพบในเกือบทุกอุตสาหกรรม  นอกจากบริษัทก่อสร้างอเมริกันรายนี้แล้ว องค์กรธุรกิจอื่นๆ ที่ถูกเข้าตรวจค้นในเวลาไล่เลี่ยกัน พบอยู่ในธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ วิศวกรรม ขายและให้เช่า ออกแบบ บริการบำบัดน้ำเสีย บริการติดตั้งแก๊ส ตลอดจนผู้นำเข้า-ส่งออก  ส่วนองค์กรธุรกิจในภาคการผลิตที่ถูกเข้าตรวจค้นในข้อหาใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ได้แก่ ผู้ผลิตโลหะแผ่น ชิ้นส่วนยานยนต์ รถยก รถบรรทุก เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องหล่อชิ้นงาน น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์โลหะสเตนเลส ท่อ และแผงควบคุมไฟฟ้า 
รายงานด้านความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกระบุว่า ในปัจจุบัน ธุรกิจภาคการผลิตตกเป็นเหยื่อของการถูกจู่โจมบนโลกไซเบอร์ โดยคิดเป็นร้อยละ 25 เนื่องจากอาชญกรบนโลกไซเบอร์จะพุ่งเป้าไปที่ผู้ผลิตขนาดกลางและเล็กที่เป็นฐานการผลิตในระบบซัพพลายเชนเป็นหลัก

    “เราได้ขอความร่วมมือไปยังองค์กรธุรกิจผู้ผลิตให้เลิกใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ้นต์” พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษก บก. ปอศ. กล่าว “ระบบซัพพลายเชนสมัยใหม่ ไม่มีที่สำหรับซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายอีกต่อไป  บริษัทต่างๆ นอกจากจะเสี่ยงต่อการถูกเข้าตรวจค้นในข้อหาใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ้นต์แล้ว ยังเสี่ยงต่อภัยจากการถูกจู่โจมบนโลกไซเบอร์อีกด้วย  สุดท้ายแล้ว การใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ้นต์อาจทำให้ข้อมูลทางการค้าและการเงินของบริษัทเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมได้”

    แม้การตระหนักถึงความเสี่ยงในการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายจะเพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงพบการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ้นต์และซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในอัตราที่สูงในภาคธุรกิจ  จากการประมาณการ พบว่าร้อยละ 32 ของพนักงานบริษัท ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายมาใช้ในที่ทำงานโดยที่นายจ้างไม่ทราบ  การกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ ความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจในระบบซัพพลายเชน และความเสี่ยงที่บริษัทจะสูญเสียข้อมูลทางการค้าที่เป็นความลับไปด้วย

    ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2557 บก. ปอศ. ได้เข้าตรวจค้นบริษัทโดยเฉลี่ย 1 บริษัท ต่อวัน พบเครื่องคอมพิวเตอร์ 1,119 เครื่อง ที่มีซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ้นต์คิดเป็นมูลค่าเชิงพาณิชย์ราว 53 ล้านบาท รวมซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยผู้ผลิตไทย  องค์กรธุรกิจที่ถูกเข้าตรวจค้นและดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ พบว่ามีผู้ถือหุ้นสัญชาติต่างๆ ได้แก่ ไทย จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อิตาลี ดัทช์ อเมริกัน และเกาหลีใต้  บริษัทไทยเป็นบริษัทที่ถูกเข้าตรวจค้นมากที่สุด
 
    “เราขอความร่วมมือจากทุกคนที่ทำธุรกิจในประเทศไทยให้มีแนวทางการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์อย่างจริงจัง มากกว่าร้อยละ 70 ของซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ้นต์มีมัลแวร์แฝงอยู่ ซึ่งมัลแวร์เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการฉ้อโกงทางการเงินผ่านธุรกรรมทางธนาคาร การขโมยข้อมูล การฉ้อโกงผ่านธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ ในประเทศไทย การใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ้นต์ในอัตราที่สูงในปัจจุบัน คือ ร้อยละ 71  ทำให้ภาคธุรกิจเสี่ยงต่อการถูกจู่โจมบนโลกไซเบอร์ (cyber-attacks) และแสดงให้เห็นว่าความไม่ปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ขององค์กรธุรกิจในภาคธุรกิจไทยอยู่ในระดับที่สูงด้วย” พ.ต.อ.ชัยณรงค์ รองผู้บังคับการและโฆษก บก. ปอศ. กล่าว “สิ่งสำคัญก็คือทุกคนต้องทำหน้าที่ของตนเองและไม่ก่อให้เกิดปัญหาเสียเอง ผู้ที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ้นต์และละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จะกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำลายระบบธุรกิจทั้งระบบ โดยเฉพาะระบบซัพพลายเชน”

    ผู้ที่แจ้งเบาะแสการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ้นต์และผิดกฎหมาย ผ่านทางสายด่วนที่ 02-714-1010 หรือทางออนไลน์ มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงถึง 250,000 บาท  ทั้งนี้ ข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกปิดเป็นความลับ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าชมได้ที่ www.stop.in.th

NEWS & TRENDS