​คุณภาพการศึกษาไทยแย่หล่นลงอันดับ 7 ในอาเซียน

"รศ.ดร.ประดิษฐ์" อธิการบดี นิด้า เผยอุดมศึกษาไทยแย่ ฝากศธ.ผลักดันงบวิจัยแก้ปัญหาคุณภาพ



    "รศ.ดร.ประดิษฐ์" อธิการบดี นิด้า เผยอุดมศึกษาไทยแย่ ฝากศธ.ผลักดันงบวิจัยแก้ปัญหาคุณภาพ

    อธิการบดี นิด้า เผยจัดอันดับการศึกษาไทยสะท้อนคุณภาพการศึกษาแย่ลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอุดมศึกษา ทปอ.เล็งแก้ปัญหาการศึกษาทุกระดับ โดยด่วน หวั่นกระทบความน่าเชื่อถือ พร้อมแนะในส่วนอุดมศึกษา ฝากรมว.ศึกษาธิการ และรมช.ศึกษาธิการ ผลักดันงบประมาณด้านการวิจัย ปรับเกณฑ์ สมศ.

    รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ในฐานะรักษาการประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ตาม ข้อมูล เปรียบเทียบดัชนีคุณภาพการศึกษาของของประเทศสมาชิกทั้งหมด 144 ประเทศทั่วโลก จากรายงานโกลบอล คอมเพทติทีฟ รีพอร์ท 2014-2015 (Global Competitive Report 2014-2015) โดย เวิร์ด อีโคโนมิค ฟอรั่ม (World Economic Forum-WEF)โดยสรุปว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย อยู่เป็นอันดับที่ 31 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ตามหลังประเทศสิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับ 2 ของโลก และมาเลเซีย อันดับ 20 แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะดัชนีด้านการศึกษาแล้ว จะเห็นว่ามีความน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง

    โดย คุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่ที่ อันดับ 7 ของอาเซียน จากปีที่แล้วอยู่ในอันดับ 6 และเป็นอันดับที่ 86 ของโลก โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ขยับไปแทนที่ในอันดับที่ 6 ของอาเซียน และทิ้งห่างไทยไปอยู่ในอันดับที่ 79 ของโลก

    ส่วนคุณภาพของระบบอุดมศึกษา ของไทยอยู่อันดับ 8 ของอาเซียน เป็นอันดับที่ 78 ของโลก ตามหลังสปป.ลาว ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 6 ของอาเซียน และ อันดับที่ 57 ของโลก ส่วนประเทศ กัมพูชา อยู่ในอันดับที่ 7ของอาเซียน อันดับ ที่ 76 ของโลก แม้ว่าขีดความสามารถด้านคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์จะค่อนข้างดี คืออยู่ที่อันดับ 5 ของอาเซียน แต่ก็อยู่ถึงอันดับ 80 ของโลก นั้น ผลการจัดอันดับที่ออกมาถือเป็นประเด็นใหญ่ที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาในภาพรวม ในทุกระดับ ยอมรับว่าตัวเลขที่ออกมาค่อนข้างน่าเกลียด ทั้งที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับงบประมาณมากที่สุด แต่คุณภาพการศึกษากลับแย่ลงเรื่อยๆ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ควรจะต้องหาแนวทางแก้ไขในภาพรวมร่วมกัน ไม่อย่างนั้นอาจจะกระทบกับความน่าเชื่อถือในเรื่องคุณภาพการศึกษาของประเทศ

    ทั้งนี้ ในส่วนของอันดับระดับอุดมศึกษา ที่อยู่ในอันดับ 8 ของอาเซียน ตามหลังสปป.ลาว ที่อยู่ในอันดับที่ 6 ของอาเซียน นั้นค่อนข้างน่าเกลียดมาก โดยในการประชุมทปอ. วันที่ 26 ตุลาคม นี้คงจะต้องมีการหารือเรื่องดังกล่าวก่อนว่าระดับอุดมศึกษามีอะไรบ้าง จากนั้นค่อยหารือในภาพรวม อย่างไรก็ตาม สำหรับ ประเด็นแรกของอุดมฯ ที่จะต้องเร่งแก้ไข ฝากให้รมว.ศึกษาธิการ และรมช.ศึกษาธิการ ผลักดันงบประมาณด้านการวิจัย เพื่อเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ และปรับเกณฑ์การประเมินและตัวบ่งชี้ การประเมินภายนอกของ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ให้มีสะท้อนคุณภาพการศึกษาที่แท้จริง

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

NEWS & TRENDS