กลุ่มคลัสเตอร์ชา แนะผู้ประกอบการปลูกชาอินทรีย์ ชี้คู่แข่งน้อย ได้ราคาดี เหตุหลายประเทศเน้นปริมาณโดยใช้สารเคมี มากกว่าใส่ใจคุณภาพชา
กลุ่มคลัสเตอร์ชา แนะผู้ประกอบการปลูกชาอินทรีย์ ชี้คู่แข่งน้อย ได้ราคาดี เหตุหลายประเทศเน้นปริมาณโดยใช้สารเคมี มากกว่าใส่ใจคุณภาพชา
นายทวี อภิรดีชนะ ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมชาดอยแม่สะลอง (กลุ่มคลัสเตอร์ชา) กล่าวว่า การปลูกชาบนดอยแม่สลอง ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2515 ตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ให้ยุติการค้าฝิ่นและหันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมแทน โดยเริ่มโครงการปลูกชาและปลูกสนสามใบเพื่อทดแทนป่า บนพื้นที่กว่า 60,000 ไร่ แต่ปัจจุบันมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 120,000 ไร่ ซึ่งแบ่งออกเป็นชาสายพันธุ์ต่างๆ อาทิ ชาอู่หลง ชาพื้นเมือง เป็นต้น
โดยปัจจุบันผู้ผลิตนิยมปลูกชาประเภทชาอินทรีย์ เพราะจะได้มูลค่าสูงกว่าชาปกติกว่า 10 เท่า เช่น ชาอินทรีย์อู่หลงเบอร์ 12 จะมีราคาสูงกว่าชาปกติถึงกิโลกรัมละ 2,000 บาท และเบอร์ 17 มีราคา 1,000 – 3,600 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ชาอินทรีย์ยังไม่มีคู่แข่งในตลาดมากนัก เนื่องจากในหลายประเทศที่ปลูกชาเพื่อการส่งออกนั้น เน้นปริมาณการผลิตโดยการใช้สารเคมีมากกว่าคุณภาพของชา อย่างประเทศเวียดนาม อินโดนีเซียและเมียนมาร์ ที่มีปริมาณการผลิตต่อปีกว่า 174,000 150,000 และ 26,500 ตัน ตามลำดับ
นายทวี กล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบัน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสถาบันบริการพัฒนาคุณภาพฯ จากมหาวิทยาแม่โจ้ได้ให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการให้ผลิตชาในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ โดยการนำปุ๋ยชีวภาพมาบำรุงดินแทนการใช้สารเคมี ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการชาดอยแม่สลองเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ
โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติกว่าร้อยละ 60 อาทิ จีน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพและมาตรฐานการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล USDA (U.S. Department of Agriculture) จากสหรัฐอเมริกา และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลของ EU จากการประเมินผลโดยหน่วยงาน OneCert Asia (OneCert Asia Agri Certifcation Pvt.Ltd. หรือหน่วยงานที่ดูแลการประเมินมาตรฐานเกษตรอินทรีย์) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมถึงโรงงานผลิตชาอินทรีย์ที่ได้รับมาตรฐาน GMP