แง้มร่างก.ม.พัฒนาแรงงานลดภาษีจูงใจนายจ้าง

แง้มร่างก.ม.ใหม่ "พัฒนาฝีมือแรงงาน" จูงใจนายจ้าง-ให้สิทธิลดหย่อนภาษี



    แง้มร่างก.ม.ใหม่ "พัฒนาฝีมือแรงงาน" จูงใจนายจ้าง-ให้สิทธิลดหย่อนภาษี

    ปัจจุบันแรงงานในประเทศไทยค่อนข้างขาดแคลนเกือบทุกสายงาน อีกทั้งแรงงานที่มีอยู่ก็ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพตามความต้องการของตลาดแรงงานในด้านนั้นๆ

    เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน จึงได้ยกร่างกฎหมายเพื่อปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 เพื่อเป็นเครื่องมือในการดูแลและพัฒนาฝีมือแรงงานที่ทำงานในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น

    นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานฯ ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีทิศทางผลักดันฝ่ายนายจ้างให้พัฒนาลูกจ้างของตนเอง ขณะเดียวกันภารกิจของหน่วยงานภาครัฐก็ให้บริการด้านพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งประเทศเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว แต่ผลปรากฏว่าตัวลูกจ้างกลับไม่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตัวเอง ทำแต่งาน เอาแต่หาเงิน ไม่ยอมหันมาพัฒนาตัวเอง จึงทำให้วัตถุประสงค์ในการพัฒนาฝีมือแรงงานไม่ประสบผลอย่างเต็มที่

    ดังนั้น กพร.จึงจัดทำร่างกฎหมายใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ไปสร้างแรงขับในตัวลูกจ้างหรือตัวแรงงานให้พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งในปลายปี 2558 ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปรากฏว่าทุกประเทศมีระบบออกใบรับรองให้กับการทำงานแต่ละสาขาแล้ว แต่ประเทศไทยมีเพียง 7 สาขาอาชีพที่หน่วยงานออกใบรับรองให้ ขณะที่สาขาอาชีพอื่นๆ ยังไม่มีการออกใบรับรองเลย

    "อย่างกรณีเราจ้างคนมา 1 คนให้มาซ่อมไฟฟ้าในบ้านเรา คนนั้นบอกเราว่าเขาเป็นช่างไฟฟ้า อยากถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าบุคคลที่เราจ้างเป็นช่างไฟฟ้าจริง หากเกิดเหตุการณ์ที่เราคาดไม่ถึง เช่น ไฟช็อต ไฟไหม้บ้านเราหลังจากซ้อมเสร็จไม่กี่วัน จะทำอย่างไร"

    นายสุรพล กล่าวต่อว่า นอกจากใบรับรองการทำงานแล้ว กฎหมายใหม่ยังสร้างกติกาขึ้นมาเพื่อเตรียมพร้อมรับการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะหลังเปิดเออีซี โดยต้องมีกระบวนการรับรองต่างๆ เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นแรงงานฝีมือจริง จึงจะสามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ เช่นเดียวกันเมื่อจะไปบังคับคนต่างชาติ ก็ต้องบังคับคนในชาติเองก่อน ถือเป็นกติกาสากล จะบังคับคนต่างชาติอย่างไรก็ต้องบังคับคนในชาติเช่นนั้น

    "กระบวนการในร่างกฎหมายใหม่ คือ กระบวนการรับรองความรู้ความสามารถ ซึ่งกระบวนการนี้ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในการประกาศว่า สาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ผู้ประกอบกิจการ ผู้ประกอบอาชีพ ต้องให้ใช้ผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะ ต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ (License) ซึ่งก็จะสามารถควบคุมอาชีพอันตรายเหล่านั้นได้"

    นายสุรพล กล่าวอีกว่า กรณีที่ทำงานในสถานประกอบการ ได้รับการอบรม โปรโมท แต่งตั้ง เลื่อนเงินเดือน สมมติเป็นเวลา 10 ปี พอปีถัดมาลาออก หรือทางสถานประกอบการให้ออก ข้อมูลการทำงานที่ผ่านมาไม่ได้ติดตัวมาด้วย ได้รับเพียงใบผ่านงาน 1 ใบ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย ร่างกฎหมายนี้จึงได้สร้างระบบใหม่ขึ้นมา คือ "สมุดประจำตัว" ให้มีการบันทึกประวัติการศึกษา ประวัติการฝึกอบรม และประวัติการทำงานที่ผ่านมาทั้งหมด เป็นซองเอกสาร ที่ใช้ประเมินรับรองความรู้ความสามารถในอนาคต สามารถใช้ประกอบการพิจารณาจ้างงานใหม่ได้ทันที

    นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ เช่น ส่งเสริมให้สถานประกอบการจ้างผู้ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถ ถ้าจ้างได้ตามจำนวนหรือสัดส่วนที่กำหนด ก็จะอนุญาตให้ใช้ตราเครื่องหมาย สามารถนำไปติดบนผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ ถือเป็นการโฆษณาอย่างหนึ่ง เหมือนกับตรา มอก. (มาตรฐานอุตสาหกรรม) ว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นทำขึ้นโดยผู้ที่ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถเป็นพนักงาน คุณภาพผลิตภัณฑ์ก็น่าจะดีกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ เป็นต้น

    "การจ้างบุคคลที่ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถเข้าทำงาน อาจจะต้องจ่ายค่าจ้างสูงกว่าปกติ ซึ่งส่วนต่างของค่าจ้างที่สูงกว่าปกตินี้ จะถูกนำมาพิจารณาเพื่อให้สิทธิประโยชน์เรื่องภาษี หรือสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นการส่งเสริมสถานประกอบการด้วยเช่นกัน" ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กพร.ระบุ

    และว่าถ้าร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ คาดว่าในเดือน เม.ย.ปีหน้า จะมีผลบังคับใช้ได้

ที่มา : www.bangkokbiznews.com

NEWS & TRENDS