กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยไทยทำธุรกิจโลจิสติกส์เฉียด 20,000 ราย ส่วนใหญ่เป็น SMEs วางกลยุทธ์บันได 3 ขั้น หวังยกระดับทัดเทียมสากล
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยไทยทำธุรกิจโลจิสติกส์เฉียด 20,000 ราย ส่วนใหญ่เป็น SMEs วางกลยุทธ์บันได 3 ขั้น หวังยกระดับทัดเทียมสากล
นางสาวพิกุล ทักษิณวราจาร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ธุรกิจให้บริการขนส่งและขนถ่ายสินค้า บริการคลังสินค้า และธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ให้กับธุรกิจภาคอื่นๆ เป็นธุรกิจหลักที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ เป็นสาขาธุรกิจที่เร่งรัดเปิดเสรีภายใต้ความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (AFAS)
โดยตั้งแต่ปี 2556 ผู้ประกอบธุรกิจในอาเซียนสามารถถือหุ้นในประเทศสมาชิกได้ถึง 70% กรมฯได้ส่งเสริมพัฒนาธุรกิจของคนไทยให้มีศักยภาพ โดยยกระดับคุณภาพธุรกิจของคนไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันได้
“ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ 19,332 ราย มีทุนจดทะเบียนรวม 811,525.96 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 31 ส.ค. 2557) สามารถสร้างรายได้กว่า 700,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี และอยู่ในภาคการขนส่งที่มีการแข่งขันสูงคิดเป็น 75.45%"
อย่างไรก็ตาม กรมฯ จึงได้ส่งเสริมพัฒนาธุรกิจด้วยกลยุทธ์บันได 3 ขั้น ประกอบด้วย 1.การสร้างองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจ 2.การยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจและมาตรฐานสากล และ 3.การสร้างโอกาสทางการตลาด และเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจสู่สากล สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ฉบับที่ 2 (2556-2560) ที่เน้นส่งเสริมพัฒนาธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง มีมาตรฐานทัดเทียมสากล ขณะนี้มีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ที่มีการยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพแล้ว 206 ราย