ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยชี้แจง ส.อ.ท. ทำซอฟท์โลนไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด ชี้ผิดต่อ พ.ร.บ. ธปท. ปี 51 ด้วย ระบุผลสำรวจเอสเอ็มอีไม่เคยบ่นว่าดอกเบี้ยแพง ยัน ธปท. ประสานแบงก์พาณิชย์ช่วยดูตลอด
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยชี้แจง ส.อ.ท. ทำซอฟท์โลนไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด ชี้ผิดต่อ พ.ร.บ. ธปท. ปี 51 ด้วย ระบุผลสำรวจเอสเอ็มอีไม่เคยบ่นว่าดอกเบี้ยแพง ยัน ธปท. ประสานแบงก์พาณิชย์ช่วยดูตลอด
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยเกี่ยวกับประเด็นเรื่องของข้อเสนอจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ขอให้ ธปท. ออกโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือกลุ่มเอสเอ็มอี (SME) ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง โดยระบุว่า ได้เชิญผู้แทนจาก ส.อ.ท. มาหารือเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งได้ชี้แจงว่า การทำซอฟท์โลน นอกจากไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดแล้ว ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธปท. ปี 2551 ก็ไม่อนุญาตให้ทำด้วย เพราะถือว่าเป็นการผิดต่อหลักวินัยการเงินที่ดี
สำหรับสาเหตุมองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเพราะ เท่าที่ ธปท. สำรวจความเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหล่านี้ พบว่าไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่ระบุว่า ต้นทุนดอกเบี้ยแพง และที่ผ่านมา ธปท. ก็ได้ประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพื่อขอให้ช่วยดูแลลูกค้าเหล่านี้อยู่แล้วด้วย อีกทั้งการช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา ก็มีตั้งแต่การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ โดยธนาคารพาณิชย์บางแห่งอนุญาตให้ลูกค้าไม่ต้องชำระหนี้ในปีนี้ด้วย ขณะที่บางรายก็ใช้วิธีลดค่าธรรมเนียมการใช้บริการในด้านต่างๆ ลงมา
“เราได้เชิญตัวแทนจาก ส.อ.ท. มาชี้แจงแล้วในเรื่องดังกล่าวนี้ และตั้งใจว่าจะทำหนังสือตอบกลับไปอย่างเป็นทางการ แต่ขณะนี้ไม่ทราบว่าหนังสือออกไปหรือยัง แต่อย่างน้อยก็ได้ชี้แจงทางวาจาแล้ว โดยเป็นการพบกันซึ่งหน้า นอกจากนี้ที่ผ่านมาเราได้ติดต่อทุกธนาคารให้ช่วยดูแลลูกค้าของตัวเอง ซึ่งธนาคารก็ทำอย่างจริงจัง โดยมีการออกแพ็คเกจช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนชำระหนี้ พักการชำระหนี้ ตลอดจนลดค่าธรรมเนียมการใช้บริการลง” นายประสารกล่าว และว่า
นายประสาร กล่าวต่อไปอีกว่า การออกมาตรการซอฟท์โลนนั้น นอกจากจะขัดต่อ พ.ร.บ.ธปท.ปี 2551 แล้ว ยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ดีด้วย เพราะการออกสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษกว่าราคาตลาด เท่ากับว่าต้องมีคนจ่ายส่วนต่างตรงนั้น ซึ่งจะกลายเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยดีนัก
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ