​ทีดีอาร์ไอ ชี้ทางรอดอุตฯไทยหลังเปิด AEC

“ทีดีอาร์ไอ” ชี้ทางรอดอุตสาหกรรมไทยหลังเปิดเออีซี ปรับตัวมุ่งอุตสาหกรรมระดับสูง เพิ่มวิจัย-พัฒนา สร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ชี้ความพร้อมทรัพยากร- แรงงานมากกว่า



    “ทีดีอาร์ไอ” ชี้ทางรอดอุตสาหกรรมไทยหลังเปิดเออีซี ปรับตัวมุ่งอุตสาหกรรมระดับสูง เพิ่มวิจัย-พัฒนา สร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ชี้ความพร้อมทรัพยากร- แรงงานมากกว่า

    สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาในหัวข้อ “อยู่หรือไป? อนาคตอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”

    นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงในอนาคตและมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากโดยในอีก 5 ปีข้างหน้าอาเซียนจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตจากปัจจุบันอีกกว่า 10 เท่า โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)ของอาเซียนจะเพิ่มขึ้นจาก 2,465 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 3,608 พันล้านดอลลาร์ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมของประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทยจะเติบโตได้อีกมาก

    อย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมของไทย จะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอาเซียน ภายหลังจากที่มีการเปิดเออีซีแล้ว โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงฐานการผลิตของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม

    "ภาครัฐควรส่งเสริมให้เอกชนไปหาตลาด แรงงาน และทรัพยากรจากประเทศเพื่อนบ้าน และยกระดับจากผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นผู้บริหารจัดการเครือข่ายในภูมิภาคและเพิ่มการทำวิจัย พัฒนาและการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าในอนาคต โดยภาครัฐควรจะเน้นการส่งเสริมไปที่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง "

    การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยหลังเออีซี นั้น รัฐและเอกชนจะต้องมีความเข้าใจ ถึงการเชื่อมโยงฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนระยะยาว รัฐบาลควรให้ความสำคัญในการจัดการด้านการตลาด ควรพัฒนาตัวเองเป็น “Trading Nation” ที่เน้นการเพิ่มมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมด้วยการวิจัยและพัฒนา การออกแบบและการส่งเสริมการตลาด ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการบริหารเครือข่ายการผลิต การจัดการโลจิสติกส์และการตลาด

    “ทางรอดของอุตสาหกรรมไทยเมื่อเข้าสู่อาเซียนเต็มรูปแบบแล้ว ต้องยกระดับตัวเองทั้งในเรื่องการผลิตและการทำตลาด ผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานสูงขึ้น ใช้การวิจัยและการพัฒนาเข้ามาเพิ่มมูลค่าสินค้า และเน้นการทำการตลาดเปลี่ยนจากการผลิตตามการว่าจ้างมาเป็นการสร้างแบรนด์ของตัวเองเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มากขึ้น”

    นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆที่จะรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนยังไม่เรียบร้อย เช่น พิธีศุลกากร และการขนส่งสินค้าที่ยังล่าช้า ยังไม่รองรับการเปิดเสรีทางการค้าทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบคู่ค้า รัฐบาลไทยควรมีการเร่งรัดนำเรื่องกฎระเบียบ ในการประชุมผู้นำอาเซียนในเวทีอาเซียนซัมมิทเพื่อให้เรื่องนี้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว รวมทั้งเสนอให้ประเทศสมาชิกยอมรับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย เพื่อผลักดันเป็นมาตรฐานการสินค้าอุตสาหกรรมอาเซียนในอนาคต

    สำหรับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยหลังเออีซี ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาการทำงานร่วมกันของอุตสาหกรรมต่างๆในห่วงโซ่อุปทาน ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและกิจกรรมจากอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ การสร้างมาตรฐานระบบการดำเนินงาน ยกระดับการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆของอาเซียนให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น

ที่มา : www.bangkokbiznews.com

NEWS & TRENDS