เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจหกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ พบใช้ซอฟต์แวร์ไม่มีไลเซ้นต์ของออโต้เดสต์ (Autodesk) ในคอมพิวเตอร์ 2 – 16 เครื่องเป็นมูลค่ามากกว่า 11 ล้านบาท
เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจหกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ หลังได้รับแจ้งเบาะแสว่าใช้ซอฟต์แวร์ไม่มีไลเซ้นต์ของออโต้เดสต์ (Autodesk) สำหรับการออกแบบและก่อสร้าง การเข้าตรวจค้นครั้งนี้แสดงให้เห็นการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายอยู่ทั่วประเทศ โดยอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย
องค์กรธุรกิจทั้งหกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยทั้งหมดและถูกพบว่าใช้ซอฟต์แวร์ไม่มีไลเซ้นต์ของออโต้เดสต์ (Autodesk) ในคอมพิวเตอร์ 2 – 16 เครื่องเป็นมูลค่ามากกว่า 11 ล้านบาท องค์กรธุรกิจเหล่านี้ให้บริการออกแบบสถาปัตยกรรม วิศวกรรม รวมถึงให้คำปรึกษาและบริการก่อสร้างแก่โครงการท้องถิ่นมากมาย โดยดำเนินธุรกิจในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของภาคเหนือที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
“องค์กรธุรกิจที่ไม่มีการบริหารจัดการที่เหมาะสมมักใช้วิธีการปรับลดต้นทุน เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าจะช่วยสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และบ่อยครั้งที่ซอฟต์แวร์เป็นหนึ่งในต้นทุนที่พวกเขาพิจารณาปรับลด” พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญชัยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษกของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าว “การใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายไม่ใช่ทางเลือกในการดำเนินธุรกิจ”
เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. ยังประกาศเร่งเครื่องเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมทุกภาคของประเทศไทย พ.ต.อ.ชัยณรงค์ กล่าวว่า “การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นปัญหาร้ายแรงที่ทำให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List) เราต้องสร้างจริยธรรมองค์กรที่ดีและการดำเนินธุรกิจอย่างมีศีลธรรมในภาคธุรกิจของเราอย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศไทยได้รับการปรับออกจากกลุ่มดังกล่าว เราจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวถ้ายังมีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่”
นอกจากองค์กรธุรกิจทั้งหกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจอีกเก้าแห่งในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยทั้งหมดทำธุรกิจด้านการออกแบบ ก่อสร้าง ผลิตอุปกรณ์สำหรับวัด ทดสอบ และอุปกรณ์นำทาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก ท่อเหล็กและเหล็กขึ้นรูปเย็น รวมถึงชิ้นส่วนยางสำหรับยานยนต์ เครื่องจักรกล ระบบเสียงคอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์ไอทีที่เกี่ยวข้อง
องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดที่ถูกเข้าตรวจค้นคือ ผู้ผลิตท่อเหล็กและเหล็กขึ้นรูปเย็นในกรุงเทพฯ โดยมีรายได้ต่อปีราว 2,000 ล้านบาท แต่พบว่าใช้ซอฟต์แวร์ไม่มีไลเซ้นต์ของออโต้เดสต์ (Autodesk) มูลค่าราว 800,000 บาท สำหรับองค์กรธุรกิจที่มีมูลค่าการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุดถึง 9.9 ล้านบาท คือองค์กรธุรกิจผู้ผลิตที่มีผู้ถือหุ้นชาวไทยและชาวญี่ปุ่นในจังหวัดนนทบุรี โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของซีเมนส์ พีแอลเอ็ม ซอฟต์แวร์ (Siemens PLM Software)
“เมื่อใดก็ตามที่มีการเข้าตรวจค้น องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชื่อเสียง ถ้าพวกเขาถูกจดจำว่าเป็นองค์กรธุรกิจที่ทำผิดกฎหมายและขาดจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ชื่อเสียงขององค์กรธุรกิจเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบและส่งผลด้านลบต่ออนาคตการทำธุรกิจ”
เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั้งหมด 15 ครั้งในเดือนนี้ พบเครื่องคอมพิวเตอร์ 112 เครื่องที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายของออโต้เดสต์ (Autodesk) ซีเมนส์ พีแอลเอ็ม ซอฟต์แวร์ (Siemens PLM Software) ไทยซอฟต์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ (Thai Software Enterprise) และไมโครซอฟท์ (Microsoft) รวมมูลค่าการละเมิดลิขสิทธิ์กว่า 38 ล้านบาท
พ.ต.อ.ชัยณรงค์ กล่าวเน้นย้ำว่าการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีไลเซ้นต์ไม่เพียงแต่เป็นการกระทำผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยคุกคามหลักต่อความปลอดภัยในโลกไซเบอร์อีกด้วย เนื่องจากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายมีมัลแวร์แฝงอยู่ ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีไลเซ้นต์จึงเป็นช่องทางสำหรับการแฮ็กข้อมูล การฉ้อโกงทางธนาคาร การขโมยข้อมูลและการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีไลเซ้นต์ยังแสดงให้เห็นการขาดความรับผิดชอบในการสร้างความปลอดภัยให้แก่ธุรกิจ
“เพื่อต้อนรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและใช้ประโยชน์สูงสุดจากการบูรณาการครั้งนี้ ประเทศไทยต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่มั่นคงให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของการลงทุนที่โปร่งใส” พ.ต.อ.ชัยณรงค์ กล่าว
ผู้ที่แจ้งเบาะแสการใช้งานซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีไลเซ้นต์ผ่านทางสายด่วนที่ 02-714-1010 หรือรายงานทางออนไลน์ จะได้รับเงินรางวัลสูงสุด 250,000 บาท โดยข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกปิดไว้เป็นความลับ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าชมได้ที่ www.stop.in.th