สสว.ชี้ SMEs ไทยไม่สนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ

สสว. – ศปพอ. ร่วมมือแก้ปัญหา SMEs ไทย ขาดความเข้าใจและไม่เห็นประโยชน์การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ขณะที่รายงานการศึกษาพบว่า ความสามารถในการตอบโต้กับภัยพิบัติของ SMEไทย ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นวิกฤต จำเป็นต้องเร่งเสริมความรู้เรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติเป็นอันดับแรก



    สสว. – ศปพอ. ร่วมมือแก้ปัญหา SMEs ไทย ขาดความเข้าใจและไม่เห็นประโยชน์การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ขณะที่รายงานการศึกษาพบว่า ความสามารถในการตอบโต้กับภัยพิบัติของ SMEไทย ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นวิกฤต จำเป็นต้องเร่งเสริมความรู้เรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติเป็นอันดับแรก

      นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2553 สร้างความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจถึง 2.4 ล้านบาท ขณะที่เหตุการณ์มหาอุทกภัย ปี 2554 ได้สร้างความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท ความเสียหายเหล่านี้นับเป็นสัญญาณเตือนถึงสถานภาพความเปราะบางของ SMEs ยามที่ประสบภัยพิบัติ

    ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจึงได้มีการดำเนินการช่วยเหลือส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถป้องกันและลดความรุนแรงจากผลกระทบภัยพิบัติ  ซึ่งที่ผ่านมามีการริเริ่มนโยบายและมาตรการที่ถูกนำไปดำเนินการมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน เช่น การยกเว้นภาษี การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการช่วยค้ำประกันสินเชื่อ ในเวลาเดียวกัน ยังมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนนำมาตรฐาน ISO 22301 ว่าด้วยการบริหารจัดการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ

    “สสว. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญและเร่งด่วนในการส่งเสริม SMEs  โดยจัดให้เป็นองค์ประกอบสำคัญในยุทธศาสตร์การสนับสนุนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs ไทย ภายใต้แผนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 3 (2555-2559) ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมสนับสนุนความเข้มแข็งและความสามารถเชิงการแข่งขันของ SMEs โดยครอบคลุมถึงการส่งเสริมให้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ และช่วยเหลือให้จัดสร้างระบบตอบโต้กับภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ”

    นางสาววิมลกานต์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา สสว. ได้จัดทำมาตรการขึ้นมาหลายมาตรการ เพื่อช่วยให้ SMEs สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และพร้อมกลับมาสร้างงานได้อย่างเต็มที่ อาทิ จัดตั้งศูนย์ประสานความช่วยเหลือ SMEs ผ่าน สสว. Call Center 1301 จัดตั้งคณะทำงาน SME Clinic เพื่อให้คำปรึกษาเชิงธุรกิจ ริเริ่มมาตรการฟื้นฟูต่างๆ เช่น SME Ambulance, SME Office Park and SME Factory Park, และโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับภัยพิบัติ ให้ความสนับสนุนทางการเงินในโครงการอุดหนุนดอกเบี้ย ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการจำนวน 15,335 ราย ที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการนี้ รวมเป็นมูลค่าความช่วยเหลือที่อนุมัติ จำนวน 240 ล้านบาท ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความตื่นตัวในหมู่ SMEs ในการจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และแผนบริหารจัดการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

    “ที่ผ่านมา สสว. ได้ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ  และศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ศปพอ.) ดำเนินการร่วมกันรวมทั้งสิ้น 3 รายการ ได้แก่ การประชุมหารือหัวข้อ  “National Consultation on Private Sector Engagement in Disaster Risk Reduction Improving SMEs’Resiliency through Business Continuity Planning” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 การจัดฝึกอบรมเพื่อสร้างผู้ฝึกอบรม หรือ Training of Trainers ด้านแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan) โดยผู้ผ่านอบรมซึ่งเป็น SMEs ในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัย ปี 2554 จะได้เข้าสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตร ISO 22301 ซึ่งการอบรมดังกล่าวได้ขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ คือ The 6th Asian Ministerial Conference on Disaster Risk Reduction เมื่อเดือนมิถุนายน 2557”

    ขณะเดียวกัน รายงานจากมูลนิธิเอเชีย ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานร่วมกับศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ศปพอ.) และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ยูทีซีซี) ซึ่งได้ทำการสำรวจความพร้อมของ SMEs ไทย ในการรับมือภัยพิบัติ เมื่อปี พ.ศ 2556 โดยส่งแบบประเมินตนเองไปยัง SMEs จำนวน 429 ราย ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก อุบลราชธานี เชียงราย สงขลา และภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มักเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ พายุไซโคลน น้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม และสึนามิ

    โดยผลการวิเคราะห์เชิงลึกชี้ว่า 73.2% ของผู้ตอบแบบประเมิน ยังไม่มีแผนบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ และแทบไม่มีบริษัทใด ที่มีข้อมูลหรือแผนรับมือวิกฤตจากภัยธรรมชาติ ทั้งที่บริษัทเหล่านี้ล้วนเคยได้รับความเสียหายอย่างหนักมาแล้วจากภัยธรรมชาติ

    รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า SMEs ไทย ส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าการวางแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Management–DRM) เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระของแผน DRM ว่ามีมากมายและยังสามารถปกป้องผู้คน สถานที่ และทรัพย์สินได้

    “ท้ายสุดของรายงานดังกล่าว ชี้ว่าปัญหาความเปลี่ยนแปลงในสภาพดินฟ้าอากาศมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นในรอบ 50 ปีข้างหน้า บรรดาภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง และภัยจากพายุทั้งปวง ซึ่งเป็นภัยพิบัติตามธรรมชาติที่ผลัดกันมาทุกปี นับวันแต่จะทวีความถี่และความร้ายแรง ประเทศไทยจึงต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมไว้ให้เข้มแข็ง ในเวลาเดียวกัน SMEs ซึ่งเป็นองคาพยพสำคัญของประเทศ จำเป็นจะต้องมีส่วนกำหนดยุทธศาสตร์ของชาติในเรื่องนี้ด้วย” นางสาววิมลกานต์ กล่าว

    สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ สสว. ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ศปพอ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ The JTI Foundation ได้ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อสร้างความก้าวหน้าแก่การส่งเสริม SMEs ดำเนินการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Reduction) พร้อมกับเร่งจัดทำแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง.

NEWS & TRENDS