​สสว.กางโมเดลปั้น SMEs โตก้าวกระโดด 50% ใน 10 ปี

"ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ" รองผู้อำนวยการและรักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวถึงแนวทางนโยบายและความคืบหน้าของนโยบายเร่งด่วนต่างๆ



    สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เพิ่งจะมีการปรับเปลี่ยนการทำงาน จากเดิมเคยสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงานนโนบายสำหรับเอสเอ็มอี มาอยู่ภายใต้สังกัดของสำนักนายกฯ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

    ขณะที่เอสเอ็มอี ถูกยกเป็นวาระแห่งชาติ ยิ่งทำให้ สสว.ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายมีการปรับเปลี่ยนการทำงาน พร้อมทั้งผลักดันนโยบายเร่งด่วนที่เอสเอ็มอีจะได้เห็นในปี 2558 นี้ 

     "ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ" รองผู้อำนวยการและรักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวถึงแนวทางนโยบายและความคืบหน้าของนโยบายเร่งด่วนต่างๆ

สสว.ภายใต้สังกัดสำนักนายกฯทำงานเร็วขึ้นหรือไม่ 

    หากนับหน่วยงานที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอี มี 100 กว่าหน่วยงาน แต่ที่ผ่านมาการทำงานไม่บูรณาการแม้ สสว.ที่เป็นเหมือนสภาพัฒน์ที่เขียนแผนให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้กำหนดนโยบายทิศทางในการพัฒนาเอสเอ็มอี ไม่ได้รับการนำไปใช้เท่าที่ควร สำหรับการปรับในครั้งนี้ นายกฯซึ่งเป็นประธานบอร์ดให้ความสำคัญขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ สัญญาณที่เห็นได้ชัด เช่น โครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ได้รับการตอบสนองดีขึ้น ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตลาดใหญ่ของเอสเอ็มอี คือ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สสว.จึงผลักดันให้เกิดการสนับสนุนสินค้าจากเอสเอ็มอี อย่างน้อย 45% ซึ่งกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ฯ ระยะเร่งด่วนปี 2558 เพื่อเปิดโอกาสในการเข้าถึงของเอสเอ็มอี จากเดิมที่ TDRI เคยประเมินเมื่อ 10 ปี ก่อนว่าเอสเอ็มอีมีส่วนอยู่ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างอยู่เพียง 30% 


ความคืบหน้าฐานข้อมูล SMEs 

    เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีการบูรณาการฐานข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการ โดยวางรากฐานให้สามารถเข้าถึงได้จากองค์กรภายนอก โดยใช้ระบบ Business Intelligent (BI) มาสร้างโครงสร้างการใช้งานเหมือนกับการเข้าถึงข้อมูลของแบงก์ชาติที่มีตำแหน่งให้คลิกเลือกตามประเภทข้อมูล คาดว่าจะเปิดให้ใช้ได้ปลายปีหรือต้นมกราคมปี 2558

    ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์แก่เอสเอ็มอีด้วย มี Benchmarking แลกเปลี่ยนความรู้ เช่น ในกลุ่มก่อสร้างสามารถเข้า มาดูระดับความสามารถตัวเองเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมากคือเราต้อง รู้จักตนเองในเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งเอสเอ็มอี ไม่เห็นความสำคัญ เช่น ในเกาหลีใต้ 

    ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในธุรกิจหนึ่งสามารถรู้ว่าในพื้นที่นั้นมีกี่กิจการแล้ว เพื่อให้รู้ว่ามีคู่แข่ง มีความต้องการอีกหรือไม่ ซึ่งฐานข้อมูลสามารถนำมาใช้สำหรับชี้เป้าให้แก่ผู้ประกอบการได้อีกมาก และยังนำไปวิเคราะห์ทิศทาง วิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วงได้อย่างแม่นยำ 


ขจัดอุปสรรคเอสเอ็มอีไม่โตอย่างไร 

    เอสเอ็มอี ขนาด M เป็นกลุ่มที่สร้างมูลค่า GDP 12% ซึ่งนับเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้แก่ประเทศ โดยกลุ่มนี้มีจำนวน 13,000 ราย ซึ่งควรมี 5-10% หรือ 130,000 รายของเอสเอ็มอีทั้งหมด ทำให้เราเกิดปัญหาเอสเอ็มอี ขนาด M หาย ส่วนไซซ์เล็กก็ไม่ขยับขึ้นซึ่งปัจจัยที่ทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถเติบโตมี 2 ประการ 

    คือ 1.ขาดทักษะในการบริหารจัดการ ต้องมีระบบที่ปรึกษา ในอเมริกาเมื่อมีการขยาย/ปรับเปลี่ยนธุรกิจจะมีทีมที่ปรึกษาด้านแผนธุรกิจ/การเงิน ที่ผ่านมาเราเน้นแต่สตาร์ตอัพ แต่ขาดผู้แนะนำในช่วงขยายกิจการ ช่วงการลงทุนต่างประเทศ ช่วงฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งเราต้องมีให้ครบวงจร เพื่อตอบสนองการเติบโตของเอสเอ็มอีตามวงจรชีวิตเอสเอ็มอี 

    2.ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สสว.ได้รับเรื่องมาจากประธานบอร์ดส่งเสริม ให้ สสว.ขับเคลื่อนเรื่องกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) มาใช้ ซึ่งตอนนี้มีเหลืออยู่ 1,700 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นการหารือแนวทาง ซึ่งจะไม่ใช่ สสว.มาบริหารกองทุนเอง อาจจะต้องใช้ฟันด์แมเนเจอร์ (Fund Manager) หรือรูปแมตชิ่งฟันด์ (Matching Fund) จากเอกชน 


มีแนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอีในปี 2558 อย่างไร 

    โมเดลในการส่งเสริมเอสเอ็มอี 2 รูปแบบ คือ 1.ส่งสู่โกลบอลซัพพลายเชน ในแง่การจ้างงานปริมาณมาก 2.เป็นซัพพลายเชนให้เอสเอ็มอีด้วยกัน โดยเน้นนโยบายที่ต่อเนื่องเป็นงบฯระยะยาว ผู้ประกอบการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์แล้วเขียนโรดแมปชัดเจนมานำเสนอ อีกประการคือ ผลักดันจากเทรดิชั่นเนล เซ็กเตอร์สู่ไฮโกรทเซ็กเตอร์ โดยเฉพาะการปรับสู่ภาคบริการ ซึ่งเทรนด์โลกพบว่าประเทศพัฒนามีภาคบริการมากกว่า 50% โดยอังกฤษมีมากถึง 80% เนื่องจากเพิ่มมูลค่าสินค้าได้กว่าภาคผลิต/การค้า หากเราเป็นเซอร์วิสโพรไวเดอร์ให้แก่เออีซี เช่น บริการออกแบบแพ็กเกจจิ้ง พัฒนาสินค้าก็นับเป็นโอกาส ปัจจุบันเรามี 39% หรือ 1,080,000 รายอยู่ภาคบริการ 1.2 ล้านราย ภาคการค้า และ 4.8 แสนรายอยู่ในภาคการค้า 


สิ่งที่เอสเอ็มอีจะได้เห็นในปี 2558 

    เรื่องแรก 1.การบริการของภาครัฐจะเจาะตรงตามความต้องการ หน่วยบริการภาครัฐค่อยๆ ปรับทัพ 2.การบูรณาการกับทุกหน่วยงานทำฟาสต์แทร็กให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำตัวดี อยู่ในระบบ บริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาลเพื่อให้เขาได้เข้าสู่ VC, การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเพื่อเป็นโมเดลแก่รายอื่นๆ ในการพัฒนาตนเอง 

    3.การทำฐานข้อมูลจนถึงปี 2558 มีความลึกมากขึ้นอย่างน้อย 80% ตั้งแต่กระบวนการจ้างงาน เรื่องข้อมูลยอดขายรายได้เพื่อให้วิเคราะห์ได้ โดยขอความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานและผู้ประกอบการ 4. การเชื่อมโยงหน่วยงานที่ให้บริการเอสเอ็มอี ทั้งภาครัฐและเอกชน มีการส่งต่อผู้ประกอบการ เช่น เซเว่นฯ, โลตัส ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีเข้าไป แต่เกิดปัญหาในเรื่องการจัดการ ต่อไปส่งมาให้ภาครัฐพัฒนาต่อได้ รวมทั้งลูกค้าของแบงก์ที่ต้องการขยายกิจการแต่ขาดนวัตกรรมแจ้ง สสว.มา เราจะเข้าไปคุย เพื่อพัฒนาเขาต่อ ซึ่งลูกค้าของแบงก์ผ่านการสกรีนมาแล้วระดับหนึ่ง แต่หน้าที่ของแบงก์คือการปล่อยสินเชื่อ ไม่ใช่หน้าที่บ่มเพาะส่งมาให้เราดูแลต่อหรือกรณีของระเบียบการใช้บริการ บสย. ซึ่งมีกฎว่าต้องผ่านการอบรม 12 ชม. แต่ไม่มีสถาบันไหนให้การอบรม ซึ่งหากไปมหาวิทยาลัยต้องใช้เวลาเทอมหนึ่ง สามารถส่งมา สสว.เราจัดคอร์สให้ ต้องมีการนำเสนองบฯ สแตนดิ้งฟันด์ที่ผู้ประกอบการมาขอใช้กลางปีได้ ซึ่งต้องค่อยๆ วางแผน 

    5.ให้คนที่มีนวัตกรรมได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ประกอบการมากขึ้นปลายปีนี้จะมีระบบสืบค้นหาผู้เชี่ยวชาญ โดยร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อก้าวสู่กลุ่มประเทศที่พัฒนาจำเป็นต้องเพิ่มจีดีพีของเอสเอ็มอีปรับขึ้นอย่างน้อย 45% หรือ 50% ภายใน 10 ปี เนื่องจากในประเทศที่พัฒนาแล้วจีดีพีเอสเอ็มอีอยู่ที่ 50% ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ที่ 37% แนวทางก็คือเราต้องโตแบบก้าวกระโดดด้วย การใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การทำแบรนดิ้ง และการส่งออกที่มากขึ้น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

NEWS & TRENDS