ซีไอเอ็มบี ไทยปรับยุทธศาสตร์หนีภาวะเศรษฐกิจซบ เบนเข็มเน้นโตรายได้ค่าฟีขยับดอกเบี้ยกู้ตามความเสี่ยงลูกค้า บุกตลาดเอสเอ็มอีข้ามชาติ-ไซซ์จิ๋ว คาดทั้งปีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มตามเป้าหมาย 3.4%
ซีไอเอ็มบี ไทยปรับยุทธศาสตร์หนีภาวะเศรษฐกิจซบ เบนเข็มเน้นโตรายได้ค่าฟีขยับดอกเบี้ยกู้ตามความเสี่ยงลูกค้า บุกตลาดเอสเอ็มอีข้ามชาติ-ไซซ์จิ๋ว คาดทั้งปีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มตามเป้าหมาย 3.4%
นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์และการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้ปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจ โดยหันไปเน้นการเติบโตด้านรายได้มากขึ้น ทั้งในส่วนของรายได้จากดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม โดยรายได้จากดอกเบี้ยธนาคารได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้มีความเหมาะสมกับ ค่าความเสี่ยงของลูกค้ามากขึ้น โดยมีการขยับดอกเบี้ยขึ้นบ้างในบางรายที่มีความเสี่ยงสูง
ขณะเดียวกัน มีนโยบายให้กลุ่มงานในธุรกิจการค้าและธุรกิจเอสเอ็มอีให้ความสำคัญกับการหารายได้ค่าธรรมเนียมมากขึ้น อาทิ รายได้จากการบริหารจัดการเงินสด รายได้จากการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน เช่น การปรับปรุงสาขาให้มีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบสาขาใหม่ให้มีความทันสมัยขึ้น ทั้งการเป็นสาขาแบบทางเลือก (Alternative) เป็น Electronic Banking และการตั้งบูทหรือสาขาแบบตู้ในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น
"แบงก์ไทยแข่งขันกันรุนแรง คิดดอกเบี้ยต่ำทั้งๆ ที่เศรษฐกิจแย่ คุณภาพสินเชื่อก็แย่ตาม อีกทั้งยังกระทบกับมาร์จิ้น จึงต้องหันมาทบทวนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้มีความเหมาะสมกับความเสี่ยง ควบคุมค่าใช้จ่าย และออกไปขยายรายได้ค่าธรรมเนียมมากขึ้น ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวมก็คงจะเติบโตได้ยากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจ โดยในส่วนของเราสินเชื่องวด 9 เดือน เติบโตได้เพียง 6.9% จากเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 15%"
อย่างไรก็ตาม ธนาคารมั่นใจว่าทั้งปีจะคงอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 3.4% หลังจากงวด 9 เดือนที่ผ่านมาสามารถทำได้แล้ว 3.36%
นายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับกลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีใหม่ โดยจะหันไปจับกลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกิจการค้าข้ามประเทศมากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในประเทศ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมให้มากขึ้น จากปัจจุบันรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจเอสเอ็มอีมีสัดส่วนอยู่น้อยมาก
"เราจะหันไปรุกธุรกิจข้ามชาติมากขึ้น ตั้งแต่การค้าชายแดนการค้าระหว่างอาเซียน โดยใช้จุดแข็งของการเป็นอาเซียนแบงก์เป็นตัวช่วย ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เราสามารถสร้างรายได้จากการขายข้ามผลิตภัณฑ์ไปยังสินค้าอื่นๆ ได้เพิ่มเติม อาทิ รายได้จากการทำป้องกันความเสี่ยง เป็นต้น"
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการขยายตลาดในกลุ่มเอสเอ็มอีรายเล็กวงเงินสินเชื่อไม่ เกิน 20 ล้านบาท และกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดที่ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจะเป็นกลุ่มที่ให้ผตอบแทนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับเอสเอ็มอีรายกลางหรือรายใหญ่ที่การแข่งขันสูง ขณะที่การทำธุรกิจก็ค่อนข้างหลากหลาย อาทิ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านทอง ร้านขายของชำ ซึ่งตลอดช่วง 6 เดือนที่เปิดตัวมามีการให้สินเชื่อไปแล้วประมาณ 100 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่อีกกว่า 1,500 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะสามารถปล่อยสินเชื่อกลุ่มดังกล่าวนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาสินเชื่อคงค้างของธุรกิจเอสเอ็มอีขยับมาอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 43,000 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปีน่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ระดับ 51,000 ล้านบาท หรือเติบโตได้ใกล้เคียง 20% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังสามารถควบคุมให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1%
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ