ส.อ.ท. เล็งเสนอรัฐ นิรโทษ เอสเอ็มอี ทั่วประเทศ เพื่อดึงเข้าระบบกว่า 1 ล้านราย หนุนรายได้ภาษีเพิ่ม และเข้าถึงความช่วยเหลือภาครัฐ
ส.อ.ท. เล็งเสนอรัฐ นิรโทษ เอสเอ็มอี ทั่วประเทศ เพื่อดึงเข้าระบบกว่า 1 ล้านราย หนุนรายได้ภาษีเพิ่ม และเข้าถึงความช่วยเหลือภาครัฐ คาดหากผลักดันเอสเอ็มอีเป็นวาระชาติได้สำเร็จทุกโครงการจะเพิ่มจีดีพีเอสเอ็มอีได้ปีละ 4% ส่งออกเพิ่ม 5% เอสเอ็มอีเกิดใหม่ปีละไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นราย พร้อมแก้ก.ม. ขยายหลักทรัพย์ค่ำประกันเงินกู้ เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น ด้าน สสว.แก้ก.ม. เวนเทอร์ แคปปิตอล อนุมัติ 1.7 พันล้านบาท ร่วมลงทุน
นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ว่า ส.อ.ท.เตรียมเสนอผ่านคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ให้นิรโทษกรรมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังไม่เคยเข้าระบบภาษี โดยยกเว้นการคำนวณภาษีย้อนหลังตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ
“พบสถิติมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งประเทศประมาณ 2.76 ล้านราย ซึ่งหากรัฐบาลนิรโทษกรรมก็คาดว่าจะทำให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบได้อีกประมาณ1 ล้านราย รวมเป็น 3.76 ล้านราย ซึ่งจะทำให้ภาครัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ไม่สามารถเก็บภาษีในกลุ่มนี้ได้ รวมทั้งเอสเอ็มอีที่อยู่นอกระบบก็เข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมเติบโต”นายศักดิ์ชัย กล่าว
ส.อ.ท.ได้ตั้งรองประธาน ส.อ.ท.จังหวัดทั่วประเทศเพื่อดูแลเอสเอ็มอีขึ้นเป็นการเฉพาะซึ่งจะเปิดรับสมัครสมาชิกที่เป็นเอสเอ็มอีทุกประเภท ทั้งวิสาหกิจการเกษตร เอสเอ็มอีภาคการค้า บริการ และภาคการผลิต แม้ไม่ใช่ภาคการผลิตที่มีใบ ร.ง.4 ก็ตาม คาดว่าจะเพิ่มสมาชิกให้กับ ส.อ.ท. ปีละไม่ต่ำกว่า 3 พันราย จากปัจจุบัน 8 พันราย และหากดำเนินการสำเร็จตามแผนจะทำให้จีดีพี เอสเอ็มอี เพิ่มขึ้นปีละ 4% เมื่อครบ 5 ปี โดยสัดส่วนจีดีพีของเอสเอ็มอี จะเพิ่มขึ้นมาเป็นสัดส่วน 50% ของจีดีพีทั้งประเทศ โดยมียอดส่งออกของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นปีละ 5% และมีเอสเอ็มอีเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 6 หมื่นราย
โดยทาง ส.อ.ท.ได้ลงนามความร่วมมือกับเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่ง ส.อ.ท.จะคัดกรองสมาชิกที่เป็นเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าสู่ระบบการให้บริการสินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์ โดยเฉพาะโครงการสินเชื่อ 9 เมนูคืนความสุขให้ ในวงเงิน 19,000 ล้านบาท และร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ในโปรแกรม SMIFast Track ให้บริการกับเอสเอ็มอี ที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. วงเงิน 16,000 ล้านบาท
นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า ทั้ง 4 หน่วยงานได้เสนอให้ภาครัฐส่งเสริมด้านสินเชื่อตามนโยบายรัฐ (Policy Loan) โดยจะขอให้หน่วยงานทางภาครัฐที่มีเงินฝากกระจายอยู่ตามสถาบันการเงินต่างๆ นำเงินมาฝากหรือให้กู้กับสถาบันการเงินของรัฐโดยให้อัตราผลตอบแทนที่เหมาะสมเพื่อนำเงินเหล่านั้นมาปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงนัก โดยเอสเอ็มอี ที่จะยื่นกู้จะต้องผ่านเกณฑ์การคัดกรองหรือเรียกว่าSME National Champion จากองค์กรที่เป็นหน่วยร่วม เช่น สสว. เอสเอ็มอีแบงก์ บสย. และ ส.อ.ท. โดยคาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 1-2 พันล้านบาท ซึ่งหากประสบผลสำเร็จก็จะขยายผลในวงกว้างต่อไป
นอกจากนี้ยังได้เตรียมผลักดัน พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ โดยให้เอสเอ็มอีสามารถใช้หลักประกันอื่นๆ มาค้ำประกันเงินกู้จากสถาบันการเงินได้ อาทิ นวัตกรรมใหม่ๆ สิทธิการเช่าทั้งของรัฐและเอกชน สินค้า มูลค่ากิจการ มาคำนวณหามูลค่าเพื่อค่ำประกันเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์
ด้านนายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า ต้องการเสนอให้แก้ไขหลักเกณฑ์การค้ำประกันเงินกู้ของบสย. โดยให้สามารถค้ำประกันเงินกู้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กู้เงินจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ได้ เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กู้เงินจากนอนแบงก์เป็นจำนวนมาก แต่บสย.ค้ำประกันได้เฉพาะธนาคารพาณิชย์เท่านั้น โดยนอนแบงก์ดังกล่าว จะต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เท่านั้น
น.ส.วิมนกานต์ โกสุมาศ รักษาการผู้อำนวยการ สสว.กล่าวว่า 4 หน่วยงานได้เสนอให้ปรับปรุงเงื่อนไขที่เกี่ยวกับบุคคลร่วมทุน (เวนเทอร์ แคปปิตอล) ในพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 39 และหลักเกณฑ์อื่น เพื่อให้องค์กรอื่นๆ สามารถร่วมทุนกับเอสเอ็มอีได้ง่ายขึ้น ทั้งระบบภาษีและแรงจูงใจต่างๆ โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้คาดว่า จะแล้วเสร็จและได้ประกาศใช้ในปีนี้ และล่าสุดบอร์ดสสว.ได้อนุมัติเงินร่วมลงทุนแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท
ขณะที่ นางสาลินี วังตาล ประธานคณะกรรมการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า ในวันที่ 12 พ.ย. เอสเอ็มอีแบงก์จะเปิดตัวการให้สินเชื่อในลักษณะร่วมลงทุน โดยจะร่วมลงทุนในธุรกิจของผู้ประกอบการไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย แต่ไม่ได้กำหนดวงเงินว่าจะต้องใช้วงเงินทั้งหมดเท่าไรเพราะอยากให้ผ่านการอนุมัติของบอร์ด ธพว. ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 29 พ.ย. นี้
ที่มา : www.bangkokbiznews.com