ช่วงปลายฝนต้นงบประมาณได้ลงพื้นที่สำรวจความคืบหน้าของ "โครงการกระจายสินค้าโอท็อปใต้ทางด่วน" ที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ การทางพิเศษฯ ริเริ่มและเปิดโครงการนี้มาได้ 8 เดือนแล้ว
ช่วงปลายฝนต้นงบประมาณ "ประชาชาติธุรกิจ" ลงพื้นที่สำรวจความคืบหน้าของ "โครงการกระจายสินค้าโอท็อปใต้ทางด่วน" ที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ การทางพิเศษฯ ริเริ่มและเปิดโครงการนี้มาได้ 8 เดือนแล้ว
โดยทางกรมตั้งใจจะให้เป็นแหล่งกระจายสินค้าโอท็อป และเกิดการเรียนรู้ของวิสาหกิจชุมชนแต่ไม่เน้นยอดขาย
โครงการมีระยะเวลา 5 ปี งบประมาณในปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรก ใช้ไปในการปรับปรุงสถานที่จำนวน 120 ล้านบาท และค่าดำเนินการในปีต่อๆ ไป ปีละ 20 ล้าน และลดลงเรื่อยๆ
สำหรับโอท็อปทั้ง 3 แห่งเปิดดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แห่งแรกคือ โอท็อปใต้ทางด่วนรามอินทรา เน้นเป็นที่พักผ่อนสำหรับครอบครัว
แห่งที่สอง โอท็อปใต้ทางด่วนเพลินจิต เน้นการฝากขายสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมีร้านกาแฟไว้สร้างความคึกคัก และ แห่งที่สาม โอท็อปใต้ทางด่วนสีลม เน้นเป็นถนนคนเดิน
ก่อนหน้านี้ เดือนมีนาคม 2557 โอท็อปใต้ทางด่วนรามอินทรา ในเวลานั้น มีร้านค้าเปิดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ อาหารกว่า 20 ร้าน แต่คนยังเดินน้อย ซึ่งตอนนั้นทางกรมมีแผนการที่จะนำเอากิจกรรมการแสดงต่างๆ มาดึงคนในวันเสาร์อาทิตย์ด้วย ล่าสุด สำรวจอีกครั้งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทั้ง 3 แห่ง คือ รามอินทรา เพลินจิต และสีลม สภาพร้างไม่มีการซื้อขายจับจ่ายใช้สอย แม้จะยังเปิดปกติ โดยเฉพาะใต้ทางด่วนรามอินทราในช่วงเช้าเวลา 11.00 น. ร้านอาหารสดปิดหายเกือบหมด ขณะที่สินค้าอื่นๆ มีการปิดร้านไปกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเปิดร้านแต่มีเฉพาะสินค้าตัวอย่างตั้งโชว์ จ้างพนักงานทำความสะอาดเป็นคนคอยเปิด-ปิดร้านเท่านั้น
ผู้ประกอบการรายหนึ่งเล่าว่า ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานี้ไม่มีคนเข้ามาเลย และกิจกรรมต่างๆ ที่เคยจัดทุกเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่มี คนหาย ทำให้ร้านอาหารสดต่างไม่มาเปิด ขณะที่ร้านอื่นๆ เปิดไว้ แต่เจ้าของร้านไปออกงานแสดงสินค้าต่างๆ แทน
ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนกลาง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนช่วยกันลงขันจ่ายไปก่อน ระหว่างรอกรมเข้ามาบริหารอีกครั้ง ขณะที่สถานการณ์ของโอท็อปใต้ทางด่วนเพลินจิตสภาพไม่ต่างกัน มีคนเข้ามาที่ร้านและซื้อสินค้าเพียงวันละไม่ถึง 20 ราย โดยร้านที่ขายดีคือ กาแฟระนอง
กลุ่มผู้ประกอบการฝากขายโอท็อปใต้ทางด่วนเพลินจิตรายหนึ่งกล่าวว่า คนไม่มี ยอดไม่ดี ทางผู้ประกอบการร้านค้าจึงรวมตัวกันช่วยกระตุ้นยอดขาย สามารถทำยอดขายได้ 3 เดือนที่ผ่านมาถึง 8 หมื่นบาท ขณะที่กาแฟระนอง เริ่มที่จะมีลูกค้ารู้จักและมาซื้อต่อเนื่อง แต่ก็มาถูกแจ้งขอพื้นที่คืนภายใน 15 วัน คือย้ายออกในวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ทำให้ตนเองเตรียมตัวไม่ทัน
ระหว่างที่โอท็อปใต้ทางด่วนไร้การบริหารจัดการ นายขวัญชัย วงศ์นิติกร อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นช่วงที่อยู่ระหว่างการรออนุมัติงบประมาณของปี 2558 เพราะเป็นช่วงที่ คสช.เข้ามาพอดี รอยต่อตรงนี้ทำให้งบประมาณหยุดชะงัก และต้องมีการประกวดราคาและทำสัญญา ซึ่งกระบวนการต่างๆ ต้องผ่านทาง คสช.ก่อน ใช้เวลาในการดำเนินการ 2 เดือน ซึ่งตอนนี้เริ่มดำเนินการแล้ว
"ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการก็จะต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อน ตอนนี้กรมเริ่มดำเนินการได้แล้ว เราจะมีการประชุม 3 ส่วนคือ ผู้ประกอบการ กรมพัฒนาชุมชน และสำนักยุทธศาสตร์ เพื่อปรับปรุงให้รูปแบบทั้ง 3 ศูนย์ดีขึ้น ที่เน้นก็คือการเข้าไปแก้ไขในส่วนของการบริหารจัดการ ทำให้ผู้ประกอบการเข้ามาเปิดขายให้มากขึ้น เช่น กาแฟที่มีกว่า 50 ราย ก็สามารถที่จะเวียนมาขาย โดยจะมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทางกรมจะซื้อเป็นของกลางและมอบหมายให้ รองอธิบดีพิสันติ์ ประทานชวโน เข้ามาวางระบบใหม่ทั้งหมด เพราะพื้นที่ต่างๆ กรมเป็นผู้เช่าพื้นที่ ผู้ประกอบการไม่ได้เช่า ตรงนี้ควรจะเป็นพื้นที่ของโอท็อปทุกรายไม่ใช่รายหนึ่งรายใด"
วันนี้โอท็อปที่คาดหมายว่าจะพัฒนาและเกิดการเรียนรู้ แต่สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือจะทำให้ลูกค้า "ติด" ได้อย่างไร การทำให้งบประมาณไหลลื่นต่อเนื่องและใช้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญที่กรมไม่ควรจะมองข้าม
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์