"ปรีดิยาธร" หนุนไทยขึ้นเทรดดิ้งฮับเออีซี มั่นใจภาคเอกชนพร้อมทั้งด้านการค้าการลงทุน คาดเปิดเสรีการเงินกับสื่อสารทำได้เร็วช่วง 3 ปีข้างหน้า ด้านอีโคโนมิสต์ชูเอเชียศักยภาพสูงเฉลี่ย 4 ปีหน้าโตราว 5.5% ด้วยแรงงานมีคุณภาพแข่งขันได้ การขยายเมืองเกิดชนชั้นกลางจำนวนมาก แต่ห่วง..
"ปรีดิยาธร" หนุนไทยขึ้นเทรดดิ้งฮับเออีซี มั่นใจภาคเอกชนพร้อมทั้งด้านการค้าการลงทุน คาดเปิดเสรีการเงินกับสื่อสารทำได้เร็วช่วง 3 ปีข้างหน้า ด้านอีโคโนมิสต์ชูเอเชียศักยภาพสูงเฉลี่ย 4 ปีหน้าโตราว 5.5% ด้วยแรงงานมีคุณภาพแข่งขันได้ การขยายเมืองเกิดชนชั้นกลางจำนวนมาก แต่ห่วงการปฏิรูปโครงสร้างทำได้ยาก และปัญหาภูมิศาสตร์การเมืองความเสี่ยงภูมิภาค
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีของไทย ให้ความเห็นระหว่างการปาฐกถาพิเศษในงาน "ประชุมสุดยอดเออีซีบวก 3 ก้าวสู่ความมั่งคั่ง ด้วยการเชื่อมโยงภูมิภาค" วานนี้ (3พ.ย.) ว่า ต้องการให้ไทยขึ้นเป็นประเทศทำการค้าขายสำคัญอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่กำลังจะกลายเป็นกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558
รองนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าคนไทยและบรรดานักธุรกิจไทยต่างพูดถึงเออีซีและเริ่มตื่นตัวกับกระแสหลักนี้ ที่ผ่านมาไทยเป็นประเทศผลิตสินค้าให้กับชาติอื่นมานาน ศักยภาพสินค้าสามารถแข่งขันได้ และไทยสามารถผลิตสินค้าติดอันดับ 1 ของโลกได้ 3 ประเภทจากทั้งหมด 5 ประเภท คือ ยางพารา ข้าว และมันสำปะหลัง ส่วนน้ำตาลกับน้ำมันปาล์มก็ผลิตได้มากเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย
ในภาคอุตสาหกรรม ไทยอยู่อันดับหนึ่งในการผลิตเซรามิกและทูน่ากระป๋อง ส่งออกเครื่องประดับเป็นอันดับ 2 เป็นผู้ผลิตเมลามีน ผลิตแอร์กับเครื่องซักผ้าติดอันดับต้นๆ สามารถส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ และอีโคคาร์ ไปทำตลาดทั่วโลก
"เราต้องการบริษัทเทรดดิ้งชาติอื่นๆ เข้ามาทำการค้าขาย มาตั้งสำนักงานเพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมาย ต้องการให้ไทยเป็นประเทศเทรดดิ้งอันดับ 1 ของภูมิภาค อยากเห็นไทยปรับจากประเทศเกษตรกรรมไปสู่การเป็นประเทศมีภาคบริการขับเคลื่อน อยากให้ไทยเป็นประเทศค้าขาย เหมือนญี่ปุ่นสามารถเปลี่ยนจากชาติเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรมและการค้าได้ โดยมีภาคธนาคารอาเซียนเป็นส่วนคอยสนับสนุนการค้าการลงทุน"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรมั่นใจว่า ภาคเอกชนไทยเดินหน้าได้เร็ว และพร้อมอย่างมากเรื่องการค้าการลงทุนภายในอาเซียนที่ก้าวไปสู่เออีซี ในส่วนของรัฐบาลนั้นเขาระบุว่า เพิ่งมีการตั้งกรมกองใหม่ในกรมส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และมีการส่งเสริมการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ
"เราไม่ได้ส่งเสริมแค่บริษัทใหญ่ แต่ยังส่งเสริมเอสเอ็มอีด้วย อยากเห็นเอสเอ็มอีลงทุนมากขึ้น สิ่งต้องทำเพื่อเก็บเกี่ยวประโยชน์จากเออีซีคือไทยต้องลดอุปสรรคโครงสร้างภาษีและออกวีซ่าให้ต่างชาติอยู่ทำงานได้นานขึ้น ขจัดอุปสรรคเอื้อต่างชาติตั้งสำนักงานบริษัทเทรดดิ้งในไทย ตรงนี้ทางรัฐบาลจะผลักดัน ให้แก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อรองรับการค้าการลงทุนเหล่านี้"
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปลายปีหน้าไทยคงได้ประโยชน์อย่างมากจากการเกิดเออีซี เพราะไทยเป็นแชมป์การผลิตสินค้าเพื่อผู้บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง เครื่องครัวเรือน รถปิคอัพ ตลอดจนอาหารทะเล บริษัทใหญ่อย่างปูนซิเมนต์ไทย และศรีไทย ไปตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ทั้งอินโดนีเซีย, กัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนทั้งภูมิภาคอาเซียน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรแนะนำว่า เออีซีต้องรวมตัวกันมากขึ้น ไม่ควรก๊อบปี้สภาพยุโรป (อียู) 100% ไม่ควรเร่งรีบแต่ให้ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ฝั่งยุโรปเป็นเศรษฐกิจเปิดมานาน แต่ในอาเซียนบางประเทศเดินหน้าเปิดเศรษฐกิจไม่ได้มาก ซึ่งเขาอยากให้ทั้งภูมิภาคสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กันได้ แผนการรวมเออีซีมีการกำหนดสินค้าการรวมตลาดให้เป็นผลสำเร็จในปี 2558 แต่การเปิดเสรีภาคการเงินกับการสื่อสารที่เร่งรีบให้ทำภายใน 5 ปีนั้น คิดว่าการเปิดเสรีทั้งภาคการเงินและสื่อสาร อาจไม่ต้องรอนาน 5 ปีถึงจะทำได้สำเร็จ แต่ภายใน 2-3 ปีข้างหน้าอาจมีการดำเนินการได้
.
ที่มา : www.bangkokbiznews.com