เอกชน แนะรัฐรื้อกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขัน ดันไทยสู่ความเป็น "Trading Nation" ในอีก 3-5 ปี อาศัยต้นแบบความสำเร็จจากญี่ปุ่น-สิงคโปร์
เอกชน แนะรัฐรื้อกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขัน ดันไทยสู่ความเป็น "Trading Nation" ในอีก 3-5 ปี อาศัยต้นแบบความสำเร็จจากญี่ปุ่น-สิงคโปร์
เริ่มมีการกล่าวถึง "ยุทธศาสตร์ Trading Nation" ว่าจะเป็นอนาคตของเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในการสัมมนาที่จัดโดยสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งออกฯ เห็นด้วยว่า Trading Nation หรือความเป็นศูนย์กลางการค้า เป็นแนวคิดในการสร้างศักยภาพการแข่งขันของไทย จากปัจจุบันที่การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของไทยยังเดินอยู่กับที่ เทียบกับเวียดนามที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อาจแซงไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า ดังนั้น ภาครัฐบาลควรให้การสนับสนุนการวางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคการผลิต การส่งออก ให้ชัดเจนต่อเนื่อง ไม่ใช่เริ่มนับ 1 ใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการวิจัยพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจทั้ง 12 กระทรวงต้องร่วมมือกัน ปรับเปลี่ยนวิธีคิด อย่างไรเพื่อนำไปสู่ความเป็น Trading Nation โดยอาจจะอาศัยต้นแบบแห่งความสำเร็จ เรื่อง Trading Nation จากประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มาปรับใช้ได้
ขณะที่มุมมองจากภาครัฐ นายยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยก็ถือเป็น Trading Nation อยู่แล้ว หากดูจากสัดส่วนการนำเข้า-ส่งออก แต่หากวิเคราะห์ลึกลงไปจะพบว่ายังมีปัญหาทั้งการค้า-การส่งออก โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายหลายฉบับยังไม่เอื้อต่อการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ บุคลากรที่มีศักยภาพพอที่จะสู้ แข่งขันกับต่างประเทศได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จใน การสร้าง "Trading Nation"
นายวิศาล บุปผเวส ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ไทยก้าวเป็น Trading Nation ได้ ไม่ควรยึดติดรูปแบบเกินไป โดย เอกชนไทยต้องไม่ถูกจำกัดจากภาครัฐ ขณะที่ภาครัฐไม่ควรลงมาแข่งขันกับเอกชนเกินไป ซึ่งจะเห็นว่าแม้ ปัจจุบันไทยจะเปิดเสรีการแข่งขันทางการค้า แต่เอกชนก็ยังถูกข้อจำกัดในข้อตกลง หรือถูกมัดมือในกติกา กฎระเบียบของภาครัฐ ที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันของภาคเอกชน ดังนั้น ภาครัฐเองจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ กฎหมายให้ทันสมัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่ง่ายขึ้น
"การเจรจาเขตเสรีทางการ ค้า หรือเอฟทีเอของไทยมีจำนวนมาก แต่ไม่ตรงความต้องการหรือวัตถุประสงค์ของภาคเอกชนจะใช้ประโยชน์ ทำให้เอฟทีเอมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เพราะการเจรจาที่เกิดไม่ได้สร้างความสะดวก และส่วนใหญ่ยึดแต่กรอบเดิม ๆ ปกป้องเอกชน อันไหนที่ไทยสู้ได้ แข่งขันได้ก็เจรจา ทั้งที่บางอย่างควรปล่อยเพื่อให้แข่งขันเอง โดยกลับมาดูโครงสร้างกฎหมายภายในให้เสริมการแข่งขันได้"
สุดท้าย การเจรจาเอฟทีเอควรกล้าหาญไม่ยึดเฉพาะเรื่องภาษีเพียงอย่างเดียวให้มากเกิน ไป แต่ต้องคำนึงถึงทุกด้าน และมีมาตรการรองรับให้กับผู้ได้รับผลกระทบจาก การเจรจาให้ครบวงจร โดยปรับนโยบายบางอย่างที่ไม่ถูกต้องและไม่บรรลุเป้าหมาย เช่น โครงการจำนำข้าวที่ช่วยชาวนา กระตุ้นการผลิตแต่ไม่กระตุ้นการลงทุน ดังนั้นการเป็น Trading Nation ซึ่งอาจต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบให้สะดวก สอดคล้องกับการแข่งขัน ไม่ใช่คงสภาพตายตัว และภาคเอกชนเองต้องไหวตัวเร็วปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์