ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกระหน่ำขอสินเชื่อตามโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอี 9 เมนูจำนวนมากถึง 6.5 พันราย วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท อนุมัติแล้ว 4.6 พันราย วงเงิน 4.4 พันล้านบาท
นางสาลินี วังตาล ประธานคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาขอสินเชื่อตามโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอี 9 เมนูจำนวนมากถึง 6.5 พันราย วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท อนุมัติแล้ว 4.6 พันราย วงเงิน 4.4 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการขอสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศไม่ดี ทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้าได้น้อย จึงขาดสภาพคล่องในการทำธุรกิจ คาดว่าสินเชื่อเต็มวงเงินสิ้นปี 2558 โดยเอสเอ็มอีแบงก์กำลังพิจารณาขยายวงเงินอีกครั้ง
ทั้งนี้ ธนาคารร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตรวจสอบความต้องการของผู้ประกอบการในภูมิภาคและจะประสานงานกับสาขาของธนาคารในจังหวัดต่างๆ เพื่อพิจารณาการให้สินเชื่อ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้เอสเอ็มอีในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมมีปัญหา ขายสินค้าได้น้อย รายได้ลดลง ขาดสภาพคล่องในการดำเนินงาน มากสุดคือกลุ่มค้าปลีก และกลุ่มการเกษตร
นายกฤษณ์ จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจเงินฝาก การลงทุน ประกันภัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจธนาคารภายในประเทศ เติบโตเฉลี่ยปีละ 15% โดยกรุงศรีเคยโตได้สูงถึง 40% ลดลงมาเหลือ 30% และปีนี้คาดจะโตเพียง 15% เนื่องจากมีการขยายพอร์ตและฐานใหญ่ขึ้น
"เศรษฐกิจไทยในระยะนี้ยังอยู่ในช่วงผันผวน และอาจจะเติบโตได้ไม่ดีตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า แม้ว่ารัฐบาลจะใช้งบประมาณกว่า 3.6 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจในญี่ปุ่นและยุโรปที่ยังประสบปัญหา ต้องใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ส่งผลต่อภาคการส่งออกที่มีสัดส่วนถึง 75% ของเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงตามคำสั่งซื้อของต่างชาติ การท่องเที่ยวก็ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากหลายประเทศกังวลเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองของไทย นักท่องเที่ยวในประเทศเองก็ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจเช่นกัน" นายกฤษณ์กล่าว
ที่มา : นสพ.มติชน