กสิกรไทยขอ ธปท. ยืดเวลาร่วมทุน SMEs เพิ่ม 10 ปี

กสิกรไทยเตรียมขอธปท.ยืดเวลาร่วมทุนลูกค้าเอสเอ็มอี ผ่านกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอลเพิ่มเป็น 10 ปี



    กสิกรไทยเตรียมขอธปท.ยืดเวลาร่วมทุนลูกค้าเอสเอ็มอี ผ่านกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอลเพิ่มเป็น 10 ปี

    นายพิภวัตว์ ภัทรนาวิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2550 ที่ธนาคารได้จัดตั้ง บริษัท ร่วมทุน เค-เอสเอ็มอี จำกัด (K-SME Venture Capital) เพื่อร่วมลงทุนในเอสเอ็มอีของไทย ที่มีศักยภาพและต้องการหาเงินทุนในการขยายธุรกิจ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินร่วมลงทุน ข้าวกล้า จำกัด (บลท.ข้าวกล้า) เป็นผู้บริหารเงินร่วมลงทุนและพิจารณาคัดเลือกเอสเอ็มอีเพื่อร่วมถือหุ้น จนถึงขณะนี้บลท.ข้าวกล้า ได้พิจารณาเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีแล้วทั้งสิ้น 19 ราย รวมเป็นเงินลงทุนกว่า 430 ล้านบาท

    อย่างไรก็ตามธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินการขอธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อขยายระยะเวลาการร่วมทุนให้นานขึ้น หรือไม่เกิน 10 ปีจากเดิมที่ธปท.อนุญาตให้ธนาคารร่วมลงทุนในเอสเอ็มอีรายหนึ่งรายใดได้ไม่เกิน 7 ปี ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารจะลงทุนประมาณ 3-5 ปีเท่านั้น แล้วถอนหุ้นออกเมื่อผู้ประกอบการมีความแข็งแรงเพียงพอและเติบโตต่อไปได้ แต่ที่ผ่านมายังมีลูกค้าบางรายที่ยังไม่ได้ถอนหุ้นคืนทั้งหมด ดังนั้นการขยายเวลาดังกล่าว เป็นการเตรียมการรองรับการถอนหุ้นคืนของลูกค้าในภาวะการณ์ในอนาคต ที่อาจมีความไม่แน่นอน

    นายพิภวัตว์ กล่าวว่า ลูกค้าที่ธนาคารได้เข้าไปร่วมทุนจนถึงขณะนี้ สามารถเติบโตและเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอได้แล้ว 3 ราย ได้แก่บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด, บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) และที่เหลืออีก 6 รายได้มีการซื้อหุ้นคืนกลับไปหมดแล้ว ทำให้ปัจจุบันมีลูกค้าที่ธนาคารยังร่วมทุนอยู่ประมาณ 10 รายและมีเงินลงทุนที่สามารถนำไปลงทุนต่อได้อีก 300-400 ล้านบาท ขณะที่แต่ละปีผลตอบแทนจากการลงทุนยังอยู่ในระดับสูงกว่า 10% เนื่องจากเป็นการช่วยเหลือในรูปของเงินทุนที่ทำให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับสูงกว่า แตกต่างจากสินเชื่อที่มีหลักประกัน

    ทั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยถือเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวที่มีการร่วมทุนแบบเวนเจอร์ แคปิตอล เพื่อช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีข้อจำกัดทางด้านเงินทุน เน้นเฉพาะลูกค้าสินเชื่อของธนาคารเป็นหลัก เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เติบโตไปได้ในระดับหนึ่ง จะประสบปัญหาหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับสูง และอาจไม่รับภาระหนี้เพิ่มขึ้นได้ หากเป็นลูกหนี้ที่มีศักยภาพเติบโต

    การเข้ามาช่วยเหลือทางด้านเงินทุน จะช่วยให้ลูกค้าสามารถขยายธุรกิจต่อไปได้ โดยบลท.ข้าวกล้า มีนโยบายที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานประจำวัน แต่จะพิจารณาช่วยเหลือในฐานะพันธมิตรทางการเงินเท่านั้น และเมื่อผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้และเติบโตได้ในระดับหนึ่ง บริษัทก็จะถอนตัวออกมา ทั้งการซื้อหุ้นคืนของผู้ถือหุ้นเดิม หรือการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

NEWS & TRENDS