​แง้ม "สิทธิประโยชน์เขต ศก.พิเศษ" สินเชื่อดอกต่ำ-ลดภาษีจูงใจ

การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 เขต (ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา) เป็นเรือธงที่รัฐบาลตั้งเป้าเป็นพื้นที่ดึงดูดการลงทุนใหม่ทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศ



    การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 เขต (ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา) เป็นเรือธงที่รัฐบาลตั้งเป้าเป็นพื้นที่ดึงดูดการลงทุนใหม่ทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาคทั้งตลาดในอาเซียน และจีน รวมทั้งจะพลิกโฉมการพัฒนาเมืองชายแดนในอนาคต

    ปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของบรรดานักลงทุนที่จะขนเม็ดเงินเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษก็คือโอกาสทำกำไร ระบบสาธารณูปโภค และสิทธิประโยชน์ในการลงทุน

    ทั้งนี้ ผลการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ ขอบเขตพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุนครั้งที่ 3/2557 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้ข้อสรุปการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 มาตรการ คือมาตรการด้านภาษี และมาตรการการเงิน

ทั้งนี้ มาตรการด้านภาษี ประกอบด้วย

    1. กรณีเป็นกิจการที่อยู่ในบัญชีได้รับส่งเสริมการลงทุน (BOI) สิทธิประโยชน์คือกิจการที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ+3 ปี ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่

    2. กรณีทั่วไป สิทธิประโยชน์คือลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ 1)สำหรับการผลิตสินค้าและบริการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 2)เป็นกิจการที่ตั้งใหม่ หรือส่วนขยายของโครงการเดิม 

    และ 3.บริษัท หรือโครงการต้องจัดตั้งและขอใช้สิทธิภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2560

    สำหรับมาตรการการเงิน ได้แก่ มาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยผู้กู้ต้องมีคุณสมบัติเป็นบุคคลธรรมดา อายุ 20 ปีขึ้นไป หรือนิติบุคคลสัญชาติไทย หรือจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และเป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจและจดทะเบียนอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ครอบคลุมพื้นที่ระดับตำบลใน 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก สระแก้ว มุกดาหาร สงขลา และตราด

    สินเชื่อดังกล่าวจะเป็นการกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือเพื่อลงทุนในทรัพย์สินถาวร หรือเพื่อขยายกิจการ โดยยกเว้นการไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น และการซื้อขายที่ดินที่มีลักษณะเก็งกำไร ประเภทสินเชื่อ เป็นเงินกู้ระยะสั้น ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 1 ปี ทบทวนทุกปี และเงินกู้ระยะยาว ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 10 ปี วงเงินกู้ รายละ 1 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย เงินกู้ระยะสั้น อัตราดอกเบี้ย MOR ปัจจุบันอยู่ที่ 7.25% ส่วนเงินกู้ระยะยาว ดอกเบี้ย MLR-1 ปัจจุบัน MLR อยู่ที่ 6.875% ใน 2 ปีแรก หลังจากนั้น MLR ตลอดอายุสัญญาหลักประกัน ใช้หลักประกันประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือหลายประเภทรวมกัน ได้แก่ สมุดเงินฝากออมสิน สลากออมสิน พันธบัตรระยะยาว พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ที่ดิน และอาคาร/ห้องชุด โฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3 ก

    การค้ำประกันสินเชื่อ ผู้กู้ทุกรายต้องขอค้ำประกันเต็มวงเงินกู้จากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ผ่านโครงการค้ำประกันในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 (2) ยกเว้นค่าธรรมเนียม 2 ปีแรก และขอชดเชยจากรัฐบาล ระยะเวลาดำเนินโครงการ ต้องยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2558

    นี่คือแนวทางการให้สิทธิประโยชน์การลงทุน แต่ขณะนี้ยังต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาอีกครั้ง

    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กำลังจัดทำรายละเอียดสิทธิประโยชน์การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะที่ภาครัฐก็อยู่ระหว่างการจัดทำแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน รถไฟ สนามบิน และมอเตอร์เวย์

    ขณะที่ นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละกระทรวงที่เสนอเพิ่มเติมเข้ามาว่าต้องการสิทธิประโยชน์อย่างไรและต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอที่เตรียมจะประกาศใช้ในปี 2558 นี้

    ในเบื้องต้นนั้น สิทธิประโยชน์ของบีโอไอจะมีการกำหนดประเภทกิจการที่ควรได้รับการส่งเสริมรวม 7 ประเภท เช่น กิจการที่เกี่ยวข้องการเกษตร, อุตสาหกรรมแร่ เซรามิกและโลหะขั้นพื้นฐาน คาดว่าการประชุมบอร์ดบีโอไอเร็ว ๆ นี้อาจจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าว

    ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า เตรียมหาพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมไว้แล้ว เช่น อ.แม่สอด คาดว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายคือสิ่งทอ และอุตสาหกรรมแปรรูป ส่วนในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ได้อยู่ในพื้นที่นิคมดังกล่าว แต่หากอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ยังได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกัน

    อีกไม่นานเกินรอ สิทธิประโยชน์การลงทุนจะมีความชัดเจนมากขึ้น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

NEWS & TRENDS