กองทุนน้ำมัน"ถังแตก"ติดลบ1.2หมื่นล.

ผอ.สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน สารภาพ ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติบลบอย่างหนัก เตรียมกู้เงินมาอุ้ม ยันไม่ถึง1หมื่นล้าน เพราะได้อานิสงส์ รัฐบาลเตรียม ปรับโครงสร้างพลังงานกลางเดือนหน้า ทางด้าน ผู้ประกอบการรถโดยสาร นัดประชุม 19 ธันวาคม ค้านปรับขึ้น "เอ็นจีวี"

         ผอ.สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน สารภาพ ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติบลบอย่างหนัก เตรียมกู้เงินมาอุ้ม ยันไม่ถึง1หมื่นล้าน เพราะได้อานิสงส์ รัฐบาลเตรียม ปรับโครงสร้างพลังงานกลางเดือนหน้า ทางด้าน ผู้ประกอบการรถโดยสาร นัดประชุม 19 ธันวาคม ค้านปรับขึ้น "เอ็นจีวี"

         นายศิวะนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการ สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน(สบพ.)เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคม 2555 นี้ สถาบันจะเริ่มขอกู้เงินเพื่อดูแลราคา พลังงานเชื้อเพลิง เพราะ ณ เดือนธันวาคม 2554 นี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะติดลบหนักสุดประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยภาระส่วนใหญ่จะมาจากการจ่าย ชดเชยการนำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศ เดือนละ 2,000-3,000 ล้านบาท โดยไทยมีการนำเข้าแอลพีจี เฉลี่ย 130,000 ตันต่อเดือน ทำให้เป็นภาระสะสมมานาน ในขณะที่การจัดเก็บรายได้เข้ากองทุนน้ำมันฯลดลงเหลือเพียงเดือนละ 385 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เกิดขึ้น

         ในเบื้องต้นคาดว่ามีความจำเป็นจะต้องกู้ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท และไม่เต็มวงเงินตามที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เคยเห็นชอบ ให้กู้เงินไม่เกินวงเงิน 10,000 ล้านบาท เนื่องจากในวันที่ 16 มกราคม 2555 รัฐบาลมีการปรับโครงสร้าง ราคาพลังงาน โดยทยอยปรับขึ้นราคาพลังงานต่างๆ ทั้งก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) การเก็บเงิน เข้ากองทุนน้ำมันฯสำหรับก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคปิโตรเคมี การขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีภาคขนส่ง เป็นต้น ก็จะทำให้เริ่มมีเงินไหลเข้ากองทุนบางส่วน

         โดยจะมีการกู้มาจากสถาบันการเงินของรัฐ 2 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารออมสิน ขณะที่ การใช้เงินจะทยอยเบิกจ่ายเงินมาใช้งวดแรกประมาณ 2,000 ล้านบาท และในเดือนธันวาคมปีหน้า คาดว่ากองทุนจะมีฐานะกลับมาเป็นบวกได้ประมาณ 3,877 ล้านบาท

         "การขอกู้เพียง 5,000-6,000 ล้านบาท นั้นได้พิจารณาจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ใน เร็วๆ นี้จะทำให้มีเงินบางส่วนไหลเข้ากองทุน คาดว่า ภายในสิ้นปี 2555 กองทุนก็จะใช้หนี้หมด และเริ่ม มีฐานะเป็นบวกได้ ขณะที่เงินกู้ดังกล่าวจะนำมาใช้ดูแล ราคาพลังงานทุกชนิด แต่ที่หนักคือ การชดเชยการ นำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศ ซึ่งมีภาระกว่า 2,000-3,000 ล้านบาทต่อเดือน" นายศิวะนันท์ กล่าว

         ทั้งนี้หลังจากรัฐบาลเดินหน้าปรับโครงสร้างราคาพลังงานแล้วจะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกลับไปทำหน้าที่หลักในการป้องกันภาวะขาดแคลน น้ำมัน และลดบทบาทการใช้เป็นเครื่องมือตรึงราคาพลังงานเป็นระยะเวลานาน ซึ่งสร้างภาระให้กับกองทุน น้ำมันฯและเป็นเรื่องไม่เหมาะสมนัก

         "จากนี้ไปกองทุนน้ำมันฯควรจะทำหน้าที่ป้องกัน ไม่ให้เกิดปัญหาน้ำมันขาดแคลน หรือดูแลกรณีฉุกเฉินระยะสั้น 2-3 เดือนเท่านั้น ไม่ใช่นำเงินไปอุดหนุน ราคา เชื้อเพลิงเฉพาะประเภท เช่น แอลพีจี ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์เท่าไหร่นัก เชื่อว่าหลังการปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งนี้จะทำให้บทบาทของ กองทุนน้ำมันฯ ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น" นายศิวะนันท์ กล่าว

         อย่างไรก็ตาม ในอนาคต กองทุนน้ำมันฯ ควรจะเข้าไปร่วมในการดำเนินการจัดตั้งคลังสำรองน้ำมัน ทางยุทธศาสตร์ ตลอดจนการสร้างท่อขนส่งน้ำมันเชื่อมโยงไปยังภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะสิ่งที่ตรงกับหน้าที่ เพราะไทยมีบทเรียนจากช่วงที่เกิดปัญหาน้ำท่วม ทำให้การขนส่งน้ำมันทางรถยนต์มีปัญหา หากสามารถสร้างคลังสำรองน้ำมันที่เป็นของภาครัฐ หรือการวางท่อขนส่งน้ำมันไว้รองรับแล้ว จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำมันได้

         มีรายงานจาก กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ชมรมรถร่วม ขสมก. และผู้ประกอบการรถร่วม บขส. รถร่วม ขสมก. และรถบรรทุกบางส่วน เตรียมคัดค้าน การขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี ตามนโยบายปรับโครงสร้างพลังงาน ในเดือนมกราคมปีหน้า โดยผู้ประกอบการจะ นัดหารือกำหนดท่าทีเคลื่อนไหวในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ ที่ โรงแรมรัตนโกสินทร์

         ด้าน นายสรัญ รังคสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่ รัฐบาลจะประกาศยกเลิกการใช้น้ำมัน เบนซิน 91 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 นั้น ปตท.คาดว่า จะดำเนินการได้ตามกำหนด หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนหัวจ่ายไปให้บริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 แทน และหัวจ่ายบางส่วนจะเปลี่ยนไปให้บริการน้ำมันอี 20 แทน

         ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2555 ปตท. จะใช้งบลงทุนประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ในการขยายสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม)รวมทั้งรุกธุรกิจค้าปลีก และร้านอาหารมากขึ้น และงบดังกล่าวจะใช้ลงทุนในต่างประเทศกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อเปิดปั๊มปตท. ใน 3 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และฟิลิปปินส์ โดย ภายใน 3 ปี แต่ละประเทศจะมีปั๊มขนาดใหญ่ในรูปแบบ ไลฟ์ สเตชั่น 5-10 สาขา และปั๊มมาตรฐาน 40-50 สาขา ส่วนในประเทศจะไม่เน้นเพิ่มจำนวนปั๊มน้ำมันมากนัก แต่จะมุ่งปรับคุณภาพมาตรฐานน้ำมัน และบริการให้มากขึ้น 

ที่มา : แนวหน้า

NEWS & TRENDS